พญ.อุรารมย์ พันธุมะผล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด และปริกำเนิด รองประธานองค์กรแพทย์ รพ.พญาไท 2 กล่าวว่า เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2565 นี้ นึกถึงเพลงค่าน้ำนมที่ว่า “แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล” เพลงนี้ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เนื่องจาก แม่ทุกท่านนั้นมีบุญคุณกับลูกๆ จนหาคำมาเปรียบเปรยไม่ได้

ถึงแม้ยุคโควิดนี้ก็ตาม เราก็ยังมีการศึกษาวิจัยออกมา ณ ขณะนี้ว่า เชื้อโควิดนั้น ไม่ผ่านนมแม่ ลูกนั้นสามารถดูดนมแม่ที่ติดเชื้อโควิดได้ โดยมารดาสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาขณะให้นมทารก

หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดเต้านม ด้วยน้ำและสบู่ทั้งก่อนและหลังสัมผัสทารกทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการไอหรือจามขณะอุ้มทารก

หากทารกไม่สามารถดูดนมจากเต้าของมารดาโดยตรง ให้บีบหรือปั๊มนมเพื่อเก็บเตรียมให้ทารกแทน โดยในระหว่างการบีบเก็บน้ำนม แม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ ทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำและสบู่ทั้งก่อน และหลังบีบนม รวมทั้งล้างขวดนม นึ่งขวดนมและทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมให้สะอาดหลังใช้งานทุกครั้ง

หลังการบีบน้ำนม ให้แม่เก็บขวดนมในถุงและทำการฆ่าเชื้อด้านนอกของถุงด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 70 ก่อนนำถุงน้ำนมมาส่งเพื่อเก็บรักษาทุกครั้ง

เนื่องจากนมแม่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการสร้างภูมิคุ้มกันของทารก อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ผ่านทางนมแม่ได้ แต่อาจเกิดการติดเชื้อจากการสัมผัสระหว่างการให้นม

ดังนั้นแม่ควรให้ความสำคัญในขั้นตอนการให้นมจากเต้า การบีบเพื่อเก็บน้ำนมทารกเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ทารกในระยะหลังคลอดและให้นมทารก

ทำไมนะ เราถึงอยากได้น้ำนมหยดแรกของแม่ หรือน้ำนมเหลือง (Colostrum)

เนื่องจากน้ำนมเหลือง (Colostrum) นั้นเข้มข้นด้วยสารอาหาร ภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน สารช่วยการเจริญเติบโต มีจุลินทรีย์สุขภาพ โปรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่อาศัยอยู่ในหลายๆ อวัยวะของร่างกาย และมีมากในลำไส้

ลูกน้อยที่ได้รับนมแม่ จะได้รับโปรไบโอติกส์ (Probiotics) และพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จากนมแม่ ทำให้เกิดการป้องกันโรค เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ทางเดินอาหารอักเสบ และส่งเสริมการสร้างสมดุล และกระตุ้นความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยที่ได้รับนมแม่

ดังนั้นเราจึงพบว่า เด็กที่กินนมแม่ จึงไม่ป่วยบ่อย เท่ากับเด็กที่กินนมผสม และพบว่า มีโอกาส ท้องเสีย ท้องผูก ทางเดินหายใจอักเสบ เป็นหวัดน้ำมูก น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

รวมถึงโรคเรื้อรังในอนาคต เช่น เบาหวาน โรคอ้วน มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

สำหรับมารดาที่เป็นโควิด หรือมารดาที่ได้รับวัคซีนโควิดนั้น ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่ จะส่งผ่านน้ำนมแม่ สู่ลูกน้อย

ในระยะที่ทารก ยังไม่สามารถรับวัคซีนโควิดได้นั้น การกินนมแม่จึงเป็นทางเดียวที่จะได้รับภูมิคุ้มกันโควิดจากแม่ นมแม่สิ! แน่นัก

ท้ายที่สุดนี้ อยากฝากให้คุณแม่ที่เป็นแม่แล้ว หรือกำลังจะเป็นแม่ทุกท่าน หรือทุกท่านที่อ่านบทความนี้ กอดคุณแม่อย่างสม่ำเสมอนะคะ และบอกรักคุณแม่ด้วยนะคะ รักแม่ที่สุดนะคะ