กรมพัฒนาที่ดินเร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ทดแทนปุ๋ยเคมีแพง ยกให้ตรังเป็นพื้นที่ต้นแบบ กยท.ยอมรับในคุณภาพตกลงเซ็นเอ็มโอยูรับซื้อแจกพี่น้องชาวสวนยาง
นายศรีศักดิ์ ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซื้อ-ขายปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ตราพะยูน ระหว่างวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง จ.ตรัง กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรัง ณ วิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านป่ากอ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ว่าด้วยพื้นที่ จ.ตรัง มีวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นมูลไก่ มูลวัว ทางกรมจึงเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับปุ๋ยอินทรีย์ธรรมดาที่มีค่าธาตุอาหาร NPK รวมกันไม่เกิน 2% ขึ้นมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีค่าธาตุอาหาร NPK รวมกันได้สูงถึง 12-13% โดยมีใบรับรองคุณภาพการันตี จนเป็นที่ยอมรับ เกษตรกรในพื้นที่และทาง กยท.ตรังให้ความสนใจได้ทำสัญญาซื้อขาย เพื่อนำไปให้เกษตรกรชาวสวนยางในโครงการปลูกยางทดแทนได้ใช้กันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มาปีนี้ กยท. จึงได้ทำ MOU รับซื้อปุ๋ยตราพะยูน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับวิสาหกิจชุมชนว่าผลิตออกมาแล้วมีตลาดรองรับที่แน่นอน และทางกรมพัฒนา ที่ดินจึงมีแผนที่จะนำโมเดลของ จ.ตรัง ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีวัตถุดิบปริมาณมากพอสำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงในการผลิต เพราะในสถานการณ์ที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพงอย่างนี้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะคุ้มค่าช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้
...
ด้าน นายภิรมย์ หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง กล่าวว่า กยท.ในฐานะหน่วยงานที่รับสงเคราะห์ยางพารา เกษตรกรที่ปลูกยางทดแทนจะได้รับการสนับสนุนสารปรับปรุงดิน หรือปุ๋ยอินทรีย์ไร่ละ 300 บาท ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.ตรัง กยท. ตั้งเป้าในการรับซื้อประมาณ 1,000 ตัน แต่กลุ่มสามารถผลิตได้ไม่ถึง 1,000 ตัน ส่วนปี 2565 ตั้งเป้ารับซื้อไว้ประมาณ 1,500 ตัน ในราคา กก.ละ 6.80 บาท หรือตันละ 6,800 บาท ในขณะที่ราคาปุ๋ยเคมีอยู่ที่ประมาณตันละ 34,000 บาท
“จะเห็นว่าปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงภายใต้การส่งเสริมของกรมพัฒนาที่ดินจะมีราคาแค่เพียง 1 ใน 5 ของปุ๋ยเคมี จึงช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก ในอนาคต กยท.ตรัง ได้ประเมินความต้องการการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปีละไม่ต่ำกว่า 4,000-4,500 ตัน ในขณะที่กำลังผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และเครือข่าย 13 แห่ง มีกำลังผลิตเพียงปีละ 1,000-1,500 ตัน การทำเอ็มโอยูในครั้งนี้จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจะได้ขยายกำลังผลิตมากขึ้น เพราะการทำเอ็มโอยูจะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีความมั่นใจได้ว่า ผลิตออกมาแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน”
ผอ.กยท.ตรัง กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุผลในการนำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงตราพะยูนมาใช้ในโครงการปลูกยางพาราทดแทนว่า เป็นเพราะปุ๋ยตัวนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะในเรื่องอินทรียวัตถุปรับปรุงดินมีมากเกือบ 40% ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปนั้นมีแค่เพียง 20% เท่านั้น นอกจากนั้นเมื่อเกษตรกรชาวสวนยางนำไปใช้ในช่วง 1 ปีที่ผ่าน พี่น้องชาวสวนยางให้การยอมรับว่าได้ผล แม้การนำไปใช้ในสวนยางจะไม่เห็นผลชัดเจน เพราะเป็นไม้ยืนต้นเห็นผลไม่ชัด แต่เกษตรกรนำไปใช้กับการปลูกพืชผักนั้นเห็นผลชัดเจนว่า ปุ๋ยตราพะยูนใช้ได้ผลดีจริง
นายพรชัย ชั้นสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ตราพะยูน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทางกลุ่มเครือข่ายสามารถผลิตได้ปีละ 3,500 ตัน แต่สามารถส่งให้ กยท.ได้เพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะต้องแบ่งจำหน่ายให้กับสมาชิก เนื่องจากในภาวะที่ปุ๋ยเคมีแพง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง แม้จะต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าใช้ปุ๋ยเคมีถึง 2-3 เท่าตัว แต่เมื่อคิดเป็นตัวเงินแล้ว การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงยังประหยัดเงินกว่าใช้ปุ๋ยเคมีถึง 60%.
...