ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 จัดโดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า ประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ได้ดีมากซึ่งถือเป็นจุดแข็ง ขณะที่แนวโน้มของโลกที่โควิด-19 มาทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมาก ได้แก่ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ คือคนอายุยืนอย่างชัดเจน
โดยในทุกๆ 10 ปีจะอายุยืนขึ้น 2 ปี มีคนตายช้าลงและคุณภาพชีวิตทั่วไปดีขึ้น รวมทั้งคนเกิดน้อยลง ในประเทศไทยสังคมสูงวัยจะมาแรงมากซึ่งจะมีผลกระทบต่างๆตามมาคือ เกิดความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างจะสูงขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร รวมไปถึงเกิดการเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกจากสังคมตะวันตกมาสู่สังคมตะวันออก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเรื่องท้าทายอยู่ 6 เรื่อง คือการขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางจะยากขึ้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกลุ่มเปราะบางและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งสำคัญที่จะต้องวางรากฐานเศรษฐกิจในยุคต่อไปของประเทศ คือต้องเปลี่ยนการพึ่งพาท่องเที่ยวที่พึ่งพาประเทศเดียวเป็นหลัก มาเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีความยั่งยืนและมูลค่าสูง โดยหนึ่งในนั้นคือ BCG เชื่อว่าเป็นจะเป็นเครื่องจักรที่ทำให้ไทยโตได้ไวและมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน
ปลัด อว.กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่เราจะต้องปรับตัว คือการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน คนมีความสุข และสังคมดี ยืดหยุ่น สิ่งแวดล้อมดีการสร้างสมดุลต้องทำทุกมิติโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งอาหาร อาชีพ สุขภาพ พลังงาน และการศึกษา เป็นทิศทางที่ประเทศไทยน่าจะต้องเดินไปข้างหน้า เพราะขณะนี้หลายๆประเทศเริ่ม
มองเห็นความชัดเจนว่าจะต้องดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่มาจากภายใน จึงจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น เราจะต้องมองไปข้างหน้าในอีก 20 ปี จะเป็นอย่างไร ต้องฉายภาพให้ชัดเจนและมีความแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งโครงสร้างประชากร อาชีพ คนจะอยู่แบบไหน โครงสร้างของเมืองและชนบทจะเป็นอย่างไร อาหารการกิน ถ้ามีภาพเหล่านี้จะทำให้เรามีความชัดเจนมากขึ้น.
...