นายกฯกำชับกระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ย้ำให้ทุกคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หวังเกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม ขณะที่ภาพรวมโควิด-19 เดือน ก.ค.ติดเชื้อใหม่นอกโรงพยาบาล (ATK+) ที่เข้าระบบเฉียด 7 แสนคน อธิบดีกรมควบคุมโรคคาดจะค่อยๆลดลง แต่ขอรอดูหลังวันหยุดยาว ด้านสถานการณ์ฝีดาษลิง ไทยโล่ง กลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วย 2 ราย ไม่พบใครติดเชื้อเพิ่ม ส่วนชายชาวเบลเยียมที่คาดเป็นเหตุการติดเชื้อน่าจะออกนอกประเทศแล้ว พร้อมให้องค์การเภสัชฯ จัดซื้อวัคซีนป้องกันรุ่น 3 มาฉีดให้กลุ่มเสี่ยงก่อน 1 พันโดส ขณะที่ศูนย์อีโอซี สธ.เห็นชอบแนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยฝีดาษลิง ให้รับเป็นผู้ป่วยในทุกคน อยู่ห้องแยกโรคแบบเดี่ยว มีห้องน้ำในตัว
เข้าสู่สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทยยังต้องลุ้นจะเข้าสู่จุดพีกของการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่หรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ รักษาตัวใน รพ. จำนวน 2,108 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,107 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 คน หายป่วยกลับบ้าน 2,540 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 22,710 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 879 คน ผู้ป่วยใช้ท่อช่วยหายใจ 457 คน ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 19 คน โดยตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,592,284 คน หายป่วยสะสม 4,538,170 คน เสียชีวิตสะสม 31,404 คน ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) เดือน ก.ค.2565 รวม 699,533 คน จำแนกเป็นสัปดาห์แรก (3-9 ก.ค.) 149,537 คน สัปดาห์ที่สอง (10-16 ก.ค.) 143,827 คน สัปดาห์ที่สาม (17-23 ก.ค.) 204,615 คน และสัปดาห์ที่สี่ (24-30 ก.ค.) 201,554 คน สำหรับภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 31 ก.ค.2565 ยอดฉีดทั่วประเทศ 39,439 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 : 2,940 คน เข็มที่ 2 : 3,660 คน เข็มที่ 3 : 32,839 คน
...
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมระบบรองรับผู้ป่วยอาการหนักต้องเพียงพอและพร้อมดูแลประชาชน หลังอัตราครองเตียงยังคงทรงตัว พร้อมเน้นย้ำขอทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความรุนแรงของโรค แม้เคยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนก็ตาม เนื่องจากวัคซีนยังมีความสำคัญช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ข้อมูลสาธารณสุขยืนยันผู้ที่ติดเชื้อและเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว หรือติดเชื้อแล้วฉีดวัคซีนจะมีภูมิต้านทานที่ค่อนข้างสูงที่เรียกว่า “ภูมิต้านทานแบบลูกผสม” อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจต้องมีการฉีดทุกปีคล้ายคลึงกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด และจะมีการฉีดในกลุ่มเสี่ยง และให้ประจำปี เนื่องจากผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วก็อาจมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก
ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการติดตามตัวชายต่างชาติที่มีสัมพันธ์กับผู้ป่วยฝีดาษลิง รายที่ 2 ซึ่งเป็นชายไทยว่ากรมควบคุมโรค รายงานว่าผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยชายไทย คนที่ 2 ผลการตรวจหาเชื้อออกมาเป็นลบทั้งหมด ส่วนการติดตามตัวชายต่างชาติที่คาดว่าจะเป็นผู้แพร่เชื้อนั้น เรื่องนี้เขาคงไม่ค่อยบอกกัน คงต้องไปเค้นสอบ แต่คนสัมผัสทั้งหมดไม่มีเชื้อ คิดว่าฝรั่งคนนี้อาจจะหลบหนีออกไปนอกประเทศแล้วก็ได้ ซึ่งได้มีการประสานสถานทูตประเทศของฝรั่งคนดังกล่าว ซึ่งอย่าไประบุว่าเป็นประเทศใด ขอให้สอบสวนโรคให้เรียบร้อยก่อน การไประบุก่อนอาจทำให้เกิดผลกระทบได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการประสานตำรวจไซเบอร์ เพื่อติดตามหาร่องรอยของชายชาวต่างชาติรายนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นคนที่มีสไตล์การเที่ยวของตัวเอง ตรงนี้ได้บอกไปแล้วว่า ช่วงนี้มีโรคฝีดาษลิง การติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกัน และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปกติเป็นคู่นอนคู่เที่ยว บางครั้งพบกันในผับบาร์ถูกคอกันก็ไปด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องขอให้ระมัดระวัง เราได้เตือนไปแล้วทุกช่องทาง สำหรับผู้ป่วยฝีดาษลิงจะมีผื่น ตุ่ม หนอง ถ้ามีการติดเชื้อต้องตามตัวมารักษา อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคอื่น และอาการที่เป็นจะหายได้เอง เพียงแต่ตุ่ม หนอง ต่างๆ ดูน่ากลัว
นอกจากนี้ นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณีนักวิชาการโพสต์ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มารับประทานเองว่า หากซื้อยาจากผู้ผลิตที่มาขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ถือว่าผิด แต่หากซื้อยาเองจากออนไลน์ ถือว่าไม่ถูกต้อง อีกทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน การซื้อยาจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น และผู้ที่จะได้รับยาต้านไวรัสก็อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ การโฆษณาขายยาทางเว็บไซต์เป็นเรื่องที่ อย. ต้องตรวจสอบและประชาชนก็ไม่ควรซื้อยาผ่านออนไลน์
ต่อมาเวลา 13.30 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ภาพรวมสถานการณ์การระบาดเริ่มคงที่และมีแนวโน้มค่อยๆลดลง โดยพบผู้ป่วยหนักคงตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยต้องติดตามดูหลังวันหยุดยาว ซึ่งประชาชนกลับภูมิลำเนา ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคงที่และดูเหมือนจะค่อยๆลดลง โดยวันที่ 1 ส.ค.มีรายงานผู้เสียชีวิต 19 คน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนเลย ประมาณร้อยละ 50 และอีกร้อยละ 32 ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้นวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต หากได้รับเข็มสุดท้ายแล้ว 3-4 เดือน ขอให้ไปรับเข็มกระตุ้น ส่วนผู้ป่วยที่เข้าระบบคนไข้นอก ยังค่อนข้างมาก โดยในระบบ สปสช.มีการรายงานจำนวน 201,554 คน (ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค.2565) ทั้งนี้ ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยหนักและสวมท่อช่วยหายใจได้ แม้ว่ายังมีแนวโน้มสูง แต่จำนวนผู้ป่วยหนักไม่ได้สูงตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่รับวัคซีนค่อนข้างมาก และยังคงระดับการเตือนภัยโรคโควิด-19 ไว้ที่ระดับ 2 สำหรับการให้ยาต้านไวรัสนั้น ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เพราะยามีทั้งข้อดีและข้อเสียผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่ควรรับยาต้านไวรัส ซึ่งอาจทำให้ดื้อยาได้
...
นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า Rebound หรือเป็นกลับซ้ำ โดยเกิดกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังรับยาแพคโลวิดและดีขึ้น ต่อมาเป็นไข้ใหม่และพบเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น สมมติฐานว่า อาจจะเกิดจากการได้รับยาต้านไวรัสเข้าไป และยานั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อในร่างกายให้หมดไป เมื่อหยุดยา เชื้อที่ซ่อนตัวอยู่ก็กลับมาแบ่งตัวและเกิดอาการอีกครั้ง ซึ่งต้องติดตามปรากฏการณ์นี้ต่อไป ดังนั้น การให้ยาต้านไวรัสที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะกับคน อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ การรับยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
ส่วนสถานการณ์ฝีดาษลิงในประเทศไทยนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า ไทยยืนยันพบผู้ป่วย 2 คน คนแรก เป็นชายชาวไนจีเรีย พบสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก A.1 หลบหนีไปประเทศกัมพูชา ปัจจุบันหายแล้ว ซึ่งประเทศกัมพูชาจะเป็นผู้รายงานต่อไป ส่วนผู้สัมผัสโรค 50 คนที่เกี่ยวข้องกับชายชาวไนจีเรีย ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ ส่วนรายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 47 ปี อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก B.1 ซึ่งระบาดในยุโรป มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวยุโรป 2 คน คนแรก อายุ 34 ปี ผลตรวจในห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ไม่พบเชื้อฝีดาษลิง ส่วนอีกรายเป็นชาวเบลเยียม คาดว่าจะเป็นเหตุการติดเชื้อ และคาดว่าออกนอกประเทศไปแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งได้ประสานประเทศต้นทางให้ดูแลต่อไป ส่วนการสอบสวนโรคผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง รวม 18 คน มีผลเป็นลบทุกคน และคุมตัวไว้สังเกตอาการ 21 วัน
...
สำหรับวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ประสานองค์การเภสัชกรรม เพื่อติดต่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง รุ่นที่ 3 ซึ่งฉีดง่ายและมีผลข้างเคียงน้อย เบื้องต้นจัดซื้อจำนวน 1 พันโดส คาดว่าจะมาประมาณครึ่งเดือนหลังของ ส.ค. เพื่อเตรียมไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ส่วนกลุ่มเป้าหมายการฉีด จะฉีดให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงซึ่งอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเป็นผู้กำหนดรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุด้วยว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องฉีดให้กับประชาชนในวงกว้าง แต่อาจฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ ซึ่งมีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป และขอย้ำว่าโรคฝีดาษลิง ไม่ได้ติดต่อง่ายเหมือนโรคโควิด-19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ยังสามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษลิง โดยเน้นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือผู้ป่วยต้องสงสัย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที
ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวทางปฏิการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 ก.ค.2565 ได้ผ่านการประชุมของศูนย์อีโอซีของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จะมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆในการวินิจฉัย การดูแลรักษา โดยหลักคือ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยให้รับไว้เป็นผู้ป่วยในทุกคนในห้องแยกโรคแบบเดี่ยว มีห้องน้ำในตัว เพื่อตรวจหาเชื้อ กรณีผลเป็นลบ ให้กักตัวสังเกตอาการ 21 วัน กรณีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ ให้รักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าจะหาย
...
นอกจากนี้ วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการอินเดียยืนยันพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิงเป็นรายแรกของประเทศ เป็นชาย วัย 22 ปี ชาวเมืองตฤศศูร ของรัฐเกรละ ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อระหว่างทำงานอยู่ที่รัฐราสอัลไคมาห์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหลังจากเดินทางกลับมายังอินเดียไม่นานก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการไข้สมองอักเสบและเหนื่อยล้าโดยไม่มีอาการของฝีดาษลิง กระทั่งเสียชีวิต โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างสอบสวนหาสาเหตุการตาย นับเป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิงนอกแอฟริกาเป็นรายที่ 4 ของการระบาดในปัจจุบัน อินเดียพบผู้ป่วยฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้ว 4 ราย ซึ่ง 3 รายอยู่ในรัฐเกรละ ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อ 22,485 ราย ใน 79 ประเทศตั้งแต่เดือน พ.ค. ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 75 รายในแอฟริกา ส่วนใหญ่อยู่ในไนจีเรียและคองโก
ส่วนที่นิวซีแลนด์กลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. หลังจากปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 และเริ่มเปิดพรมแดนให้ชาวนิวซีแลนด์สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาถึงนิวซีแลนด์ยังคงต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และต้องเข้ารับการตรวจโควิด 2 ครั้ง หลังจากเดินทางมาถึง แต่ไม่ต้องกักตัว