เกษตรกรไทยพัฒนาสายพันธุ์สร้าง "กล้วยแดงสยาม" กลายเป็นสุดยอด "กล้วยด่างแดง" ของโลก เผย เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศนับพันล้านบาท
วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นายศุภกฤษ มานิ่ม ประธานชมรมกล้วยแดงสยามแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน "รวมพลคนรักกล้วยแดงสยาม" ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตว่า กระแสความนิยมการเพาะพันธุ์กล้วยด่างแดง ยังคงพุ่งสูงสวนกระแสเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังผู้เพาะเลี้ยงไทยได้พัฒนาสายพันธุ์จนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า "กล้วยแดงสยาม" (Musa Siam ruby) มีสีสันและลวดลายที่สวยงามโดดเด่นมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม
ทำให้กล้วยด่างแดงสยาม กลายเป็นสายพันธุ์ที่หายาก เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในประเทศอินโดนีเซีย ต้นกำเนิดกล้วยด่างแดง ได้กลายเป็นหนึ่งในตลาดหลัก ที่มีการนำเข้า “กล้วยแดงสยาม” จากไทยที่มีมูลค่ามากที่สุดรองจากญี่ปุ่น
สำหรับลักษณะและความพิเศษของสายพันธุ์ของกล้วยแดงสยาม ที่แตกต่างจากกล้วยด่างแดงทั่วไป คือ สามารถพัฒนาลวดลายที่สวยงามได้ตลอดเวลาจากแม่พันธุ์ ทำให้มีลวดลายที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กระแสตอบพุ่งแรง นอกจากนี้สีสันที่ปรากฏอยู่บนใบ ยังทำให้เป็นไม้มงคล เชื่อกันว่าจะช่วยเสริมบารมีและความมั่งคั่ง โดยสีแดงหมายถึงสีแห่งความสุข โชคลาภ และความสำเร็จ สีเขียวสื่อถึงความมั่งคั่งและเงินทอง และสีทองแทนสีแห่งจักรพรรดิและอำนาจ บารมี

...
ล่าสุดชมรมฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ กับกรมวิชาการการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจดทะเบียนทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และความคุ้มครองในต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้
นายศุภกฤษ บอกด้วยว่า จากการรวบรวมมูลค่าการซื้อขายกล้วยแดงสยามของสมาชิก ในแต่ละเดือนมีการซื้อ-ขายไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท และมีการส่งออกราว 100 ล้านบาท โดยมีตลาดใหญ่คือ ประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และเริ่มขยายไปยังอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ ยังมีคำสั่งซื้อที่รอการส่งมอบอีกจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณกล้วยแดงสยามระดับคุณภาพดี ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ.