ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะประธานดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนในเฟสแรกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน รวม 121,642 คน ในทุกสังกัดตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กกลุ่มปกติ 67,129 คน พบตัวแล้ว 52,760 คน และตามกลับเข้าระบบแล้ว 31,446 คน ดังนั้นเฟสสองนี้พร้อมดำเนินการตามเด็กที่เหลือประมาณ 17,000 คนให้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการพากลับมาได้ 100%

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการในเฟสสอง เราได้นำข้อมูลของจำนวนเด็กที่เหลืออยู่ประมาณ 17,000 คนที่ยังไม่ได้ตามกลับเข้าระบบการศึกษาไปตรวจสอบกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ว่าเด็กเหล่านี้มีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ที่ไหน เพื่อนำไปสู่การชี้เป้าให้แก่คณะทำงานระดับจังหวัดในการช่วยค้นหาติดตาม โดยในจำนวนตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็น กลุ่มเด็กการศึกษาภาคบังคับ เด็กพิการ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติโครงการตามน้องกลับมาเรียนขึ้น เพื่อให้คณะทำงานระดับจังหวัดได้รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะได้ไม่เกิดความสับสนและเข้าใจการส่งต่อดูแลเด็กทั้งระบบอย่างทั่วถึง เนื่องจากเป็นโจทย์สำคัญที่ รมว.ศธ.ฝากเอาไว้หากตามตัวเด็กพบแล้วจะมีสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง เช่น เมื่อพบตัวเด็กแต่เด็กไม่อยากเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องส่งต่อให้เด็กไปเรียนอาชีวะด้วยระบบการส่งต่อที่มีคุณภาพ เป็นต้น รวมถึงมีระบบการดูแลเพื่อไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำอีก

“ที่ผ่านมาในส่วนของสำนักการศึกษาพิเศษ ได้ตามเด็กพิการที่หลุดระบบการศึกษาจากเดิมมีตัวเลขอยู่ 7,000 คน ขณะนี้ตามกลับมาได้กว่า 6,000 คน เหลืออยู่ประมาณ 800 คนที่อยู่ระหว่างการค้นหา อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถือเป็นโครงการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาตามแนวคิดการศึกษาไทยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าว.

...