“เดิมการวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง มักมาจากส่วนกลางที่กระจายต่อไปยังส่วนภูมิภาค ทำให้พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีมากกว่า 90% ได้รับการแก้ไขไม่ตรงจุด เพราะขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และกระบวนการจัดเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วมผ่านระบบแอปพลิเคชัน ดำเนินโครงการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามโครงการแนวทางการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำระดับชุมชนในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม”

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ วช. อธิบายถึงที่มาของการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แล้งซ้ำซากอย่างบูรณาการ... ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมรู้ถึงคุณค่าของน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานส่วนใหญ่ยังขาดการรวมกลุ่มบริหารจัดการที่เป็นระบบ ไม่มีกระบวนการหรือรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม ขาดการจัดเก็บข้อมูล ขาดการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยแผนงานวิจัยมุ่งยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องรวมตัวกันสร้างความเข้าใจ ดูปริมาณน้ำในพื้นที่มีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ โดยใช้หลากหลายวิธีการตามความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝาย ธนาคารน้ำใต้ดิน รวมถึงอ่างเก็บน้ำและเขื่อน

...

โครงการวิจัยต้องการให้องค์กรผู้ใช้น้ำแข็งแรง มีหน่วยงานสนับสนุน เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดูแลกันได้ในระยะยาว เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนกับ อบต. หน่วยงานจังหวัด อย่างบูรณาการ ส่วนบนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กำหนดบทบาทชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไร ส่วนล่างก็ต้องร่วมมือในแต่ละจังหวัด วางแผนเก็บข้อมูล ทำเป็นสตูดิโอ ดาต้า ซึ่งเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้การสำรวจข้อมูลที่ไม่ลงรายละเอียด ทำให้ดำเนินการไม่ตรงกับความ ต้องการของประชาชนผู้ใช้น้ำ มีแนวทางวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว ไปสู่ระบบที่ชัดเจน

ด้าน นางกุหลาบ มาตย์วังแสง เจ้าของไร่ธรรมนาธาร ครัวเรือนต้นแบบโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ขยายความเพิ่มเติม...พื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ราบสูงมีภูเขาส่วนหนึ่ง พื้นที่เป็นดินร่วนปนเหนียวมีความสมบูรณ์ค่อนข้างสูง แต่จากการที่ชาวบ้านประกอบอาชีพด้านการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ เป็นอาชีพหลัก ทำให้ต้นไม้ใหญ่เริ่มลดลง ดินเริ่มมีปัญหา ต้องรอแต่น้ำฝน เพราะไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน พอหน้าฝนน้ำมากก็ท่วม แต่พอฤดูแล้ง ก็แล้งจนแทบทำอะไรไม่ได้

จนเมื่อปีที่แล้ว เริ่มมีโครงการเข้ามาให้คำแนะนำ จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เริ่มจากทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยสังเกตบริเวณที่น้ำไหลไปรวมกันหรือน้ำขังนานๆ จากนั้นขุดหลุมกว้าง 1.5 เมตร ลึก 2 เมตร ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น หิน กรวด ใส่ลงไป แล้วขุดสระน้ำ บริเวณใกล้เคียงเพื่อให้น้ำใต้ดินไหลสู่สระที่ขุด หรือหากมีบ่อหรือสระอยู่แล้ว น้ำที่สะสมในดินก็จะไหลลงไปเติมอยู่ตลอด

สำหรับที่นี่ปัจจุบันมีสระ 5 บ่อ มีการขุดคลองไส้ไก่รอบพื้นที่ กว้าง 3 เมตร ลึก 2-3 เมตร ทำให้ที่ผ่านมาจากที่เคยท่วมก็เหลือแค่น้ำขังไม่กี่ชั่วโมง พอหน้าแล้งก็มีน้ำในสระเป็นทั้งแหล่งน้ำและเลี้ยงปลา ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่รวมกว่า 20 ไร่ มาปลูกพืชผสมผสาน ทั้งนาข้าว ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผัก ทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ขณะที่พื้นที่บริเวณไหนเป็นแอ่ง ก็จะทำธนาคารน้ำใต้ดินตรงนั้น

...

“พื้นที่นี้เราจะทำงานกันค่อนข้างเป็นระบบ ชาวบ้านร่วมกันคิดว่าต้องการอะไร นักวิชาการคอยชี้แนะ องค์กรท้องถิ่นช่วยในเรื่องงบประมาณ เช่น ที่ผ่านมาในพื้นที่แหล่งน้ำเดิมทั้งคลองธรรมชาติและคลองขุด เมื่อต้องการสร้างฝายชะลอน้ำ ทั้งท้องถิ่นและชาวบ้านก็จะมาร่วมลงแรงลงแขกทำ ส่วนธนาคารน้ำใต้ดิน เมื่อชาวบ้านทำ ท้องถิ่นก็เข้ามาสนับสนุนวัตถุดิบ เช่น ตาข่าย ส่วนในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปทั้งฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ท้องถิ่นก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบความต้องการของชาวบ้านต่อไป”.

กรวัฒน์ วีนิล