คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จอมพลัง วิ่งไปตรวจ “อุโมงค์ลอดสามแยกไฟฉาย” ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อุโมงค์ 7 ชั่วโคตร” หนึ่งในโครงการ 7 ชั่วโคตรที่มีอยู่ทั่ว กทม. กลับได้รับคำตอบอันน่าตื่นตะลึงจาก คุณไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา กทม. ว่า ไม่ใช่ 7 ชั่วโคตร หรือ 7 ปี แต่สร้างมาแล้ว 13 ปี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2552 จะเสร็จในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ผมอ่านข่าวนี้แล้วก็นึกถึง รถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ขึ้นมาทันที เป็นอีกหนึ่งโครงการ 7 ชั่วโคตร ที่เกิดขึ้นในสมัย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาวสร้างหลังไทย แต่กลับสร้างเสร็จเปิดใช้งานไปตั้งแต่ปลายปี 2564

วันก่อน นายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน มาเยือนไทยไปเยี่ยม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการถามถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ที่ยังคลานเป็นเต่าไปไม่ถึงไหน พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันกับ นายหวังอี้ ว่า ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เสร็จภายในกำหนดเวลา แต่ผมเชื่อว่าไม่มีทาง

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถือเป็นเฟสแรก มีระยะทาง 253 กม. มูลค่าโครงการ 179,000 ล้านบาท (สร้างเสร็จผมเชื่อว่าแพงกว่านี้แน่นอน) ระยะเวลาโครงการ พ.ศ. 2558–2565 แต่ล่าสุด กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2569 และเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ล่าช้าไปถึง 5 ปี อย่างนี้ไม่ใช่ 7 ชั่วโคตรแล้ว แต่เป็น 12 ชั่วโคตร แต่ก็ยังเก่งกว่า กทม.ที่สร้างทางลอดถนน 1.25 กม. ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 13 ปี ประชาชนไม่รู้สึกเจ็บปวดอับอายที่มีผู้บริหาร กทม.และรัฐบาลเช่นนี้บ้างหรือ ชะตากรรมของ ประเทศศรีลังกา เป็นตัวอย่างที่ดี

ภาพรวมการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถึงเดือน มีนาคม 2565 มีความคืบหน้าเพียง 4.62% จาก 14 สัญญา สร้างเสร็จ 1 สัญญา ระยะทาง 3.5 กม. ที่ สถานีกลางดง-ปางอโศก กว่าจะสร้างเสร็จทั้งสาย 3.5 กม. แรกก็เป็นสนิมเขรอะต้องตั้งงบซ่อมใหม่พอดี มันเป็นอย่างนี้ ระบบราชการไทย ใน ยุครัฐข้าราชการ ปกครองประเทศ

...

คุณพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมราง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความน่าทึ่งของกระทรวงคมนาคมยุคนี้ว่า โครงการนี้แบ่งออกเป็น 14 สัญญา ภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 12% ก่อสร้างเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา รอลงนาม 3 สัญญา ทั้งที่โครงการผ่านไปแล้ว 7 ปี คาดว่าสิ้นปี 65 งานโยธาจะคืบหน้าประมาณ 20% คาดว่าจะเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 2569 และเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2570 รวมเบ็ดเสร็จ 12 ปีพอดี ถ้าเปิดได้จริงตามที่พูด

ทีนี้ลองไปเทียบกับ รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน กันแบบตัวต่อตัวเลยครับ เพราะเป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางเดียวกันคือ เส้นทางสายไหมใหม่ Belt&Road Initiative ของจีน เริ่มต้นจาก คุนหมิง ของจีนลงสู่ เวียงจันทน์ กรุงเทพฯ มาเลเซีย ไปสิ้นสุดที่ สิงคโปร์

รถไฟลาว-จีน มีระยะทาง 1,035 กม. ส่วนที่ก่อสร้างในลาวมีระยะทาง 414 กม. ก่อสร้างยากกว่ารถไฟไทย–จีนเยอะ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า เส้นทางรถไฟในลาวต้องขุดอุโมงค์ลอดภูเขาถึง 75 แห่ง เป็นระยะทาง 198 กม. ต้องสร้างสะพาน 167 แห่ง เป็นระยะทาง 61 กม. มีมูลค่าโครงการ 5,900 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท 199,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนสมัยนั้น) เริ่มก่อสร้างในปี 2016 (พ.ศ.2559) ใกล้เคียงกับ โครงการรถไฟไทย-จีน ของไทยแต่ลาวใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็สร้างเสร็จ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 วิ่งปรู๊ดจาก เวียงจันทน์ ไปถึง คุณหมิง ต่อไปถึง ยุโรป

แต่ รถไฟไทย-จีน ผ่านไป 7 ปี เพิ่งสร้างไปได้แค่ 12% ต้องรอไปอีก 5 ปี ถึงคาดว่าจะเสร็จ ค่าก่อสร้างต่อกิโลเมตรก็แพงกว่าลาว ทั้งที่เส้นทางลาวสร้างยากกว่าไทยมาก

เมื่อคิดเฉลี่ยออกมาแล้ว ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงลาว กม.ละ 480 ล้านบาท รวมค่าเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา 75 ลูก 198 กม. สร้างสะพาน 167 แห่ง 61 กม. แต่รถไฟความเร็วสูงไทยสร้างตามทางรถไฟเดิม ค่าก่อสร้างกลับแพงลิ่วตก กม.ละ 707 ล้านบาท แพงกว่าลาวเกือบ 50% ทั้งที่สร้างง่ายกว่าลาวเยอะ มีใครกล้าตรวจสอบไหม ทำไมมันแพงจัง?

“ลม เปลี่ยนทิศ”