นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยถึงผลสำเร็จในการเข้าไปแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ตั้งแต่ปี 2561 ยกระดับกลุ่มเกษตรกร 2,000 คน ในพื้นที่อำเภอ อ.สุวรรณภูมิ อ.เกษตรวิสัย และ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ส่งผลให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่

โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ การจัดการแปลง ไปจนถึงการแปรรูป เพิ่มผลผลิตข้าวได้เป็นไร่ละ 450 กก. การปลูกพืชหลังนาบำรุงดิน และการผลิตผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือน จนสามารถสร้างรายได้เสริมเฉลี่ยปีละ 2,000 บาท และสร้างการเรียนรู้สมาร์ทเทคโนโลยีระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการน้ำบนดิน และน้ำใต้ดินสำหรับใช้ในภาคการเกษตรได้อย่างแม่นยำ

...

โดยผลจากการร่วมแรงร่วมใจกันภายใต้แนวคิด “การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน” นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรที่รองรับการเรียนรู้ในระดับภาคสนาม และถ่ายทอดสู่ชุมชนโดยเน้นการลงมือปฏิบัติ กลายเป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ในพื้นที่ให้เกิดการเข้าถึงองค์ความรู้ และสามารถขยายผลองค์ความรู้ให้เครือข่ายกลุ่มเกษตรกร ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด และในจังหวัดใกล้เคียง ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 38,000 บาท/คน/ปี ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ทั้งนี้ความร่วม มือจะนำไปสู่การพัฒนาสถานีเรียนรู้ ที่จะเป็นกลไกสำคัญให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ซึ่งสถานีเรียนรู้จะอยู่ทั้งในพื้นที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ และพื้นที่ของเกษตรกร รวม 7 สถานีหลัก ครอบคลุมทั้งเรื่องการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง การบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานเพื่อการเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรประณีตเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง การผลิตพืชหลังนา โคกหนองนา และการผลิตสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งสถานีเรียนรู้นี้จะเป็นทั้งจุดเรียนรู้ สาธิต และทดสอบเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นสถานีถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรแกนนำ เจ้าหน้าที่ รวมถึงประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง.