การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศโลกกำลังกลายเป็นตัวเร่งก่อโรคอุบัติใหม่ให้เกิดการติดเชื้อแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างรุนแรง สามารถก้าวกระโดดจากสัตว์มาสู่คนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 และโควิด-19 ต่างสร้างความโกลาหลส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ อันมีปัจจัยจาก “ความชุกชุมของสัตว์พาหะนำโรคบวกกับความสะดวกทางคมนาคม และผู้คนขาดการป้องกัน” ทำให้เปิดช่องโอกาสสัมผัสโรคได้มากขึ้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สำหรับ เชื้อไวรัสจากสัตว์ติดต่อสู่คนได้นี้มาจาก “มนุษย์ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ” รุกล้ำพื้นที่ที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าปรับเปลี่ยนให้เป็นชุมชน และแหล่งเพาะปลูกทำมาหากิน

คนบางส่วนก็ล่าสัตว์ป่านำมารับประทาน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเจอสัตว์พาหะนำโรคได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ RNA หรือตระกูลไวรัสโคโรนาที่มักคุกรุ่นในกลไกสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ โดยปกติเป็น “ไวรัสก่อโรคในลำไส้สิ่งมีชีวิต” มักทำลายระบบภูมิคุ้มกันเคลื่อนย้ายไปส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ปอด หลอดลม

...

ทำให้สามารถถ่ายเทไวรัสไปสู่สัตว์ชนิดอื่น เช่น สัตว์ฟันแทะ ค้างคาว ที่มักติดเชื้อไม่มีอาการป่วย แล้วยิ่งเมื่อมนุษย์รุกล้ำพื้นที่ป่า “ทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์” อันเป็นลักษณะยิ่งใกล้ชิดสัตว์ป่าพาหะนำโรคมากขึ้นจนทำให้สามารถถ่ายเทเชื้อโรคมาสู่ “สัตว์บกเศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะเป็นวัว ควาย แพะ แกะ รวมถึงหมู สุนัข เป็ด ไก่

ก่อนคืบคลานเข้ามาสู่ “คนติดต่อสู่คน” สุดท้ายกลายเป็นการก่อโรคระบาดรุนแรงขึ้นก็ได้

ยิ่งกว่านั้น “ไวรัสยังจะพัฒนาแพร่เชื้อผ่านทางอากาศหายใจ (Airborne)” โดยไม่จำเป็นต้องรับเชื้อผ่านละอองฝอย ไอจามรดกัน หรือมือสัมผัสพื้นผิวปนเปื้อนเชื้อนำสู่ร่างกายอีกต่อไป เรื่องนี้คือเป้าหมายสำคัญอันเป็นชัยชนะของไวรัสส่งสัญญาณเตือนถึง “ความเก่งกาจ” ที่มนุษย์ต้องเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่กันได้แล้ว

และมีคำถามว่า...“สัตว์ป่าติดเชื้อมาจากแหล่งใด?” เรื่องนี้ตอบได้ยากแต่ตามหลักที่ศึกษาวิจัยเชิงรุกรู้กันมานานกว่า 20 ปี “ไวรัสมักตั้งตัวในสัตว์เกิดการเพาะบ่มและวิวัฒนาการของเชื้อโรคจากสัตว์” แล้วที่ผ่านมาปรากฏชัดว่า “มีวิวัฒนาการควบคู่ได้ดีกับสัตว์บางชนิด” โดยเฉพาะสัตว์ป่าก่อนกระโดดข้ามไปสัตว์ชนิดอื่น

ที่เรียกว่า “กระโจนข้ามสายพันธุ์” เพื่อพัฒนาปรับตัวเองขยายการแพร่ระบาดให้อยู่คู่กับสิ่งมีชีวิตอื่นต่อไปได้เรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด แล้วในส่วนการแพร่เชื้อไวรัสก็ไม่จำเป็นต้องติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ด้วยกันเสมอไป “แต่มีพาหะอื่นเป็นสื่อตัวกลาง” เช่น ยุง แมลง เห็บ ริ้น ที่นำพาเชื้อจากสัตว์ตัวหนึ่งไปสู่สัตว์ชนิดอื่นได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ศึกษามา 20 ปี พบไวรัสมากกว่า 20–30 ตระกูล สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้

ด้วยเหตุนี้เวลามี “โรคระบาดในคน” มักนำเชื้อโรคปัจจุบันมาเปรียบเทียบเชื้อในอดีตให้แน่ชัดว่าเครื่องมือตรวจ และกระบวนการรักษาแบบเก่า ยังสามารถรองรับได้ผลดีเช่นเดิมอยู่หรือไม่ อย่างกรณีฝีดาษลิงในคนเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 มีการระบาดกันมาเป็นระยะในทวีปแอฟริกา

กระทั่งปี 2017 เริ่มเห็นความผันผวนของพันธุกรรมเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า “สามารถปรับสายพันธุ์” ทำให้อาการของโรครุนแรง

จริงๆแล้ว “โรคอุบัติใหม่” ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์หลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู แพรีด็อก หรือนก ค้างคาว รวมถึงสัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่าง ลิง เสือ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระแวดระวังคือ “นักวิจัยเข้าป่าเพื่อสำรวจค้นคว้าหาเชื้อไวรัสในสัตว์” เพราะอาจเป็นการนำไวรัสจากคนเข้าไปสู่สัตว์ป่าโดยไม่รู้ตัว

...

ผลคือ “เมื่อไวรัสเข้าสู่สัตว์แล้วมักจะกลายพันธุ์ร้ายกว่าเดิม” ดังนั้นการศึกษาสุ่มหาไวรัสในสัตว์ป่าแบบไม่มีเป้าหมาย “ไม่ควรทำ” เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ แต่จะกลับกลายเป็นความเสี่ยงรับเชื้อโรคผ่านเห็บ ยุง แมลงพาหะชนิดอื่น มีโอกาสรับเชื้อโรคออกจากมูลสารคัดหลั่งปนในดิน แหล่งน้ำ

ทั้งยังเสี่ยงถูกสัตว์ทำร้ายเกิดบาดแผลเป็นช่องรับเชื้อจากสัตว์ได้ เว้นแต่เป็นกรณี “ค้นหาไวรัสโรคระบาดในสัตว์แบบเจาะจง” อันเกิดจากเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ หรือสถาบันสุขภาพสัตว์ เพื่อสอบสวนหาสาเหตุของโรคระบาดนำไปสู่การควบคุมป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสชนิดนั้น

ตอกย้ำความเสี่ยงอีกทางจาก “กลุ่มนักล่าสัตว์ป่า” มักแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรก...นักล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่กระทำเพื่อความสนุกสนานสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่ามากกว่าการนำไปบริโภค และกลุ่มที่สอง...นักล่าสัตว์ป่าเพื่อความจำเป็นในการนำไปประกอบเป็นอาหารรับประทานประทังชีวิต

แต่เมื่อ “ล่าสัตว์ป่ามาแล้วมักต้องชำแหละ ถลกหนัง ฉีก หั่น สับ ปรุง” อันเป็นลักษณะให้สัมผัสเลือดสารคัดหลั่งจากสัตว์ป่าที่อาจมีเชื้อโรคปนออกมาด้วย ทำให้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายเช่นกันโดยเฉพาะ “กลุ่มนิยมเปิบเมนูพิสดารเชือดกินแบบสดๆ” มีโอกาสโชคร้ายเจอสัตว์ป่าป่วยค่อนข้างสูงที่สุด

...

ถัดมาคือ “นักเลี้ยงสัตว์แปลก” ที่นิยมนำเข้าสัตว์ป่าต่างถิ่นโดยไม่รู้ที่มา “แต่อย่าลืมสัตว์แปลกบางชนิดมักเป็นพาหะนำโรคแบบไม่แสดงอาการป่วยก็มี” ซึ่งจะกลายเป็นการลักลอบนำเชื้อไวรัสจากต่างทวีปเข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงจนเกิดการระบาดสู่คนในประเทศตามมาก็ได้

สิ่งนี้ล้วนแล้วแต่ “ก่อให้เกิดความเสี่ยงการรับเชื้อไวรัสมาสู่คนได้เสมอ” เพราะสัตว์ป่าบางตัวสามารถพบและล่ามาได้แบบง่ายๆ มักเป็นผลมาจากการที่สัตว์ป่วยไม่แข็งแรงอยู่ในระดับหนึ่งก็มี ดังนั้นในเรื่องการเปิบเมนูพิสดาร หรือนำเข้าสัตว์แปลก อาจจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามาคุ้มครองให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นหรือไม่

เช่นนี้สามารถตอบโจทย์ที่ว่า “โรคอุบัติใหม่” มักมีแหล่งกำเนิดมาจาก “สัตว์ป่า” แล้วมีแนวโน้มพบมากขึ้นโดยเฉพาะ “ทวีปแอฟริกา” ที่เป็นแหล่งป่าดิบชื้นอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด แล้วมีหลายพื้นที่ที่คนทำลายรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จนทำให้เกิดโรคระบาดแพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คนอยู่บ่อยๆ

ไม่เท่านั้น “ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่ยังมีผืนป่าอุดมสมบูรณ์แล้วเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทำให้ไวรัสมีโอกาสถ่ายทอดผ่านสู่สัตว์เลี้ยงแพร่ระบาดมาสู่คนได้ง่ายด้วยเช่นกัน

แน่นอนในอนาคต “โรคติดต่ออุบัติใหม่จะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” ที่ไม่จบลงแค่ไวรัสตระกูลโคโรนา หรือฝีดาษลิงเท่านั้น เพราะด้วยตอนนี้มีวิวัฒนาการแพร่ระบาดผ่านทางอากาศหายใจ (Airborne) สะท้อนให้เห็นว่า “ไวรัสอุบัติใหม่อาจเก่งกาจกว่าเดิม” แม้ว่าเราหลบอยู่ที่ใดก็คงไม่รอดมีโอกาสติดเชื้อกันได้ทั่วถึงทุกคนแน่ๆ

...

ย้ำต่อว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมในการป้องกันโรคอุบัติใหม่อยู่แล้ว” แต่ด้วยไม่มีบุคคลใดมีความสามารถเก่งกาจเป็นที่สุดได้คนเดียว เหตุนี้กลุ่มแพทย์ สัตวแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นๆจึงได้ร่วมมือกัน

โดยประสานองค์ความรู้กับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ “เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน” ในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่ โดยมีความพร้อมรองรับโรคที่เกิดจากเชื้อได้หลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมกลุ่มโรคที่ไม่เคยระบาดในประเทศไทยมาก่อน

มีเป้าหมายช่วยเหลือมนุษย์ไม่ให้ติดเชื้อไวรัส หากติดแล้วก็ต้องรักษาให้หายปลอดภัยเร็วที่สุด

สุดท้ายนี้ฝากไว้ว่า “โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่นี้” ล้วนแต่เป็นผลพวงที่เกิดมาจากฝีมือมนุษย์เป็นผู้ก่อสะสมขึ้นแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษโลกร้อน และบุกรุกแหล่งอาศัยสัตว์ป่า ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญการรับเคราะห์กรรมในสิ่งที่เคยกระทำกันไว้ก่อนนี้

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ “การป้องกันตนเอง ไม่สัมผัสเชื้อ ปลอดภัยดีที่สุด” หากมีความเสี่ยงควรกักตัว สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และกินอาหารปรุงสุกเสมอ แค่นี้เราก็รอดจากเชื้อโรคทุกชนิดแล้ว.