กระทรวงการอุดมศึกษา จับมือ Times Higher Education จัดประชุมเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา ยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จับมือ Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จัดการประชุมวิชาการ Thailand and South East Asia Masterclass ให้กับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อชี้แจงเกณฑ์และตัวชี้วัดในการประเมิน และวิธีการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบประเมินคุณภาพการจัดอันดับของ World University Rankings เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุง สถาบันอุดมศึกษาให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดเผยว่า การจัดอันดับ World University Rankings เป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาไทย ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มุ่งสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นหนึ่งในทางเลือกเข้าศึกษาต่อของนักเรียน นักศึกษาทั่วโลก

...

ทั้งนี้ ในปี 2565 Times Higher Education (THE) จัดอันดับ World University Rankings สถาบันอุดมศึกษามากกว่า 1,600 แห่ง จาก 99 ประเทศทั่วโลก โดยมีเกณฑ์ชี้วัดที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน, ด้านการวิจัย, ด้านการอ้างอิงในผลงานวิจัย, ด้านความเป็นนานาชาติ และด้านรายได้ทางอุตสาหกรรม โดยประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับ จำนวน 17 แห่ง มีอันดับที่ดีที่สุดคืออันดับที่ 601-800 โดยได้รับการจัดอันดับ 8 สาขาจาก 10 สาขา ประกอบไปด้วย Business and Economics, Clinical and Health, Computer Science, Education, Engineering, Life Sciences, Physical Sciences, Social Sciences ซึ่ง อว. คาดหวังจะได้เห็นสถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการจัดอันดับจำนวนมากขึ้น และอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สป.อว. กล่าวว่า ทาง อว. สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของไทย เข้าสู่ระบบการจัดอันดับ World University Rankings ผ่านโปรแกรมการอบรม The Datapoints ของ THE มาใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนา และเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จของการดำเนินงานพัฒนาตามเป้าหมาย หรือการพัฒนาตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ได้ เช่น กลุ่มสถาบันอุดมศึกษากลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกสามารถใช้ตัวชี้วัดหมวดการวิจัยมาใช้เป็นตัวสะท้อนความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาได้ กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมสามารถ ใช้ตัวชี้วัดหมวดรายได้จากภาคอุตสาหกรรมในการเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาได้ และกลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะสามารถใช้ตัวชี้วัดหมวดการเรียนการสอนในการเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาไทยแต่ละแห่ง ล้วนแต่มีศักยภาพในการเข้าสู่ระบบการจัดอันดับ World University Rankings ได้แต่อาจขาดคุณสมบัติบางประการ ที่เข้าตามเกณฑ์ชี้วัด ดังนั้น จึงต้องมีแพลตฟอร์มที่จะช่วยวิเคราะห์ ประเมินผลการดำเนินงาน ศึกษาจุดแข็ง จุดด้อยที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้มาตรฐานระดับโลก และสามารถติดอันดับ World University Rankings ได้.