วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 สถานการณ์การระบาดไวรัส “โควิด-19”...“ไม่พบระบาดเป็นกลุ่มก้อนคือวลีที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” ระบุว่า เอาแค่เท่าที่ทราบจากรอบตัว บุคลากรทางการแพทย์ในแผนกเดียวกันของโรงพยาบาลบางแห่งติดกันไปสามสิบกว่าคน มีสัมผัสเสี่ยงอีกมากมาย ภาษา “คน” และภาษาทางระบาดวิทยา เค้าเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ระบาดเป็นกลุ่มก้อน” ครับ ยังไม่นับคนอื่นในสังคม ที่ประสบพบเจอคนรอบตัว ทั้งคนรู้จัก คนที่ทำงานด้วยกัน ติดกันระนาว
รวมถึงนำพาไปติดสมาชิกในครอบครัวมากมาย
คำถามที่ต้องถามหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ เราอยู่ในโลกเดียวกันหรือเปล่า? เราพูดคุยโดยใช้ภาษาเดียวกันไหม? หรือเมากัญชาจนหลอนไปแล้วครับ?
“ยอมรับความจริง และทำให้คนตระหนัก ช่วยกันป้องกันให้สถานการณ์ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น จะได้ใช้ชีวิต ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียนไปด้วยกันอย่างปลอดภัย
...อย่าทำให้หลงไปกับภาพลวงตา ปล่อยไปตามมีตามเกิด ยอมสังเวยชีวิตและสุขภาพ ตั้งเป้าจะยอมรับความสูญเสียได้เท่านั้นเท่านี้ ทั้งๆที่วิกฤตินี้หากคนรู้ตัว ป้องกันตัว เข้มแข็ง จะลดความสูญเสียไปได้พร้อมกับขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกัน..ทุกชีวิตล้วนมีค่า”
ภาพความจริงสะท้อนจากข้อมูลจาก MRC BSU มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ 23 มิถุนายน 2565 ระบุว่า ปัจจุบัน 30% ของคนที่ติดเชื้อในแต่ละวันของอังกฤษนั้นเป็นการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง...ในขณะที่อีก 70% เป็นคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
...
ทั้งนี้ เราทราบการคาดประมาณจากรายงานฉบับก่อนๆของ UK HSA ว่าในอังกฤษเฉลี่ยแล้วทุก 40 คนจะมีคนติดเชื้อไปแล้ว 1 คน
หากเป็นเช่นนั้น อาจมีแนวโน้มแสดงให้เราเห็นได้ว่า การติดเชื้อนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการใช้ชีวิตของแต่ละคน เพราะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นนั้นมีการติดเชื้อซ้ำในสัดส่วนที่สูงมากกว่าอัตราส่วนระหว่างคนที่เคยติดเชื้อไปแล้วและคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยอื่นๆที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อ
เช่น พื้นที่ที่อยู่อาศัย ความหนาแน่นประชากร ความรุนแรงการระบาดในแต่ละพื้นที่ อาชีพ ฯลฯ
คงจะเป็นการดีที่เราควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนเพราะหากติดเชื้อซ้ำจะมีโอกาสป่วยรุนแรงมากขึ้น 3 เท่า โอกาสเสียชีวิตมากขึ้น 2 เท่า นอกจากนี้การติดแต่ละครั้งก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา Long COVID อีกด้วย
ที่สำคัญคือ เล่าเรื่องนี้มาให้เราทุกคนที่พยายามป้องกันตัวอย่างเต็มที่มาตลอดทุกซีซัน ได้ใจชื้นมีกำลังใจที่จะป้องกันตัว เพราะสถิติการติดเชื้อในอังกฤษนั้นชี้ให้เราเข้าใจว่า...“ถ้ามีพฤติกรรมป้องกันตัวดีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อย่อมน้อยกว่า”
ถึงตรงนี้คงต้องสะท้อนอีกมุมมองที่ว่า...สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ สถานการณ์ที่วิกฤติแล้วปิดหูไม่ให้ได้ยิน ปิดตาไม่ให้มองเห็นสถานการณ์รอบตัว และปิดปากไม่ให้พูด แต่สร้างภาพลวงให้เห็นแต่สิ่งที่ไม่เป็นจริง ส่งเสียงลวงให้ฟังทุกวี่วัน จนทำให้สมรรถนะในการรับรู้ คิด วิเคราะห์
และ...ตัดสินใจของคนในสังคมเสื่อมถอยลงไปโดยไม่รู้ตัว
เพราะหากเป็นช่วงที่เกิดปัญหาคุกคามสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต คนในสังคมก็จะไม่มีที่พึ่ง ไม่สามารถรับรู้ ไม่สามารถตัดสินใจตามสถานการณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม และ...สุดท้ายคือพึ่งพาจัดการตนเองไม่ได้ แน่นอนว่า...เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนในสังคมต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้น
รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า น่าคิด...ในวันที่เป็นแดนดงโรคโควิด...“ชลบุรี” จังหวัดเดียวก็ตรวจพบ ATK 3,045 คนแล้ว แต่ทั้งประเทศกรมควบคุมโรคบอกตรวจเจอ ATK 4,814 คน แปลว่า...ชลบุรีมีการติดเชื้อที่ตรวจ ATK คิดเป็น 63.25% ของทั้งประเทศ ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้เสมอ?
ป.ล.เค้าบอกไว้ในเว็บว่าไม่รวม กทม. ดังนั้น แปลว่าอีก 75 จังหวัด คงมี ATK กันเฉลี่ยจังหวัดละไม่เกิน 24 คน ดูจะง่าย ที่จะทำให้อัตราตายต่ำ...แค่ปรับวิธีการนับ นับเฉพาะที่ไม่มีโรคร่วม ตัวตั้งคือจำนวนตายก็จะลดลงฮวบฮาบ ในขณะที่ตัวเลขที่ใช้หารนั้น ก็เลือกเล่นเอาตามที่ต้องการ
...
จะเอาตัวเลขติดเชื้อ (บางส่วน/บางวิธี/บางส่วนบางวิธี) ตัวเลขติดแล้วป่วยมาที่สถานพยาบาลหรือ...ตัวเลขที่จะอยู่ในระบบเท่าที่มี ก็ปรับไปตามที่อยากทำ แนวไหนทำให้เลขน้อยสุดก็ใช้เลขนั้น
ข้างต้นคือ วิธีปฏิบัติที่ทุกประเทศไม่ควรทำ ยิ่งหากตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการประเมินสถานการณ์และการปฏิบัติของคนในสังคม
บันทึกข้อมูล 1 กรกฎาคม 2565...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
บันทึกวันแรกของการเป็นแดนดงโรค (endemic area)...“แดนดงโรค” โควิด-19 หรือ “พื้นที่โรคชุกชุม” โดยอยู่ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบาดกระจายต่อเนื่อง หน่วยงานบอกว่าพอ หมอพอ เตียงพอ ยาพอ...คงคล้ายกับคำว่า “เอาอยู่”
ในขณะที่ประชาชนที่ให้ความใส่ใจสุขภาพ มุ่งหวังที่จะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตจำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอด ให้อยู่รอดปลอดภัย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางนโยบายและสังคมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อสูง...ติดเชื้อแล้วกักตัว 5 วันตามแนวทางที่กำหนดจะปลอดภัยไหม?
...
ล่าสุดมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระยะเวลาที่ยังตรวจพบเชื้อ ปริมาณเชื้อ และเพาะเชื้อขึ้นหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 จากข้อมูลวิจัยจะเห็นได้ว่าการกักตัว 5 วันหลังการติดเชื้อนั้นไม่เพียงพอ
และ...ยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังสามารถเพาะเชื้อได้ถึงอีกเกือบ 50% และยังมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบระดับสูง ถ้าจะปลอดภัย ตามข้อมูลเรื่องปริมาณเชื้อ และอัตราการเพาะเชื้อขึ้น คือราว 2 สัปดาห์หรืออย่างน้อย 10 วันขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยากด้วยความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แรงงาน การใช้ชีวิตในสังคม
ดังนั้น หากผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตหรือทำงานก่อนเวลา 7-10 วัน ก็ต้องตระหนักเสมอว่าอาจนำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นได้ จึงควรป้องกันตัวเข้มๆระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันต่อจนกว่าจะครบ 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโดยใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า ไม่ถอดหน้ากาก รักษาระยะห่าง
ที่สำคัญมากคือ...ไม่ไปร่วมวงกินข้าวในที่ทำงาน ไม่ไปร่วมวงปาร์ตี้กินดื่มสังสรรค์ หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น หากช่วยกันปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อตามสถานที่ต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดปัจจุบันได้บ้างไม่มากก็น้อย
...
ณ จุดนี้ ยังยืนยันว่า “การใส่หน้ากากเสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน” เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง...โควิดไม่จบแค่ชิลๆแล้วหาย แต่ป่วยได้ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวลองโควิด.