ศบค.รับผู้ป่วยปอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์รับได้ ยังไม่ปรับมาตรการรับสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มสูงบางจังหวัด ผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจพบเพิ่มเล็กน้อย เร่งทำความเข้าใจผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตามสิทธิเดิม ยกเว้นผู้ป่วยวิกฤติสีแดงยังใช้สิทธิยูเซ็ปพลัสได้ ญี่ปุ่นประกาศยกระดับคำเตือนด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ หลังพบอัตราการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 63%

ส่วนเรื่องฝีดาษลิงองค์การอนามัยโลกเตือนทุกประเทศอย่าประมาทให้เฝ้าตรวจหาเชื้อ หลังพบมีเด็กติดเชื้อนี้แล้วกรณีราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 มิ.ย. ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องโควิด-19 ที่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อกลับไปรักษาตามสิทธินั้น ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้แม้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตกับอัตราครองเตียงยังอยู่ในเกณฑ์รับรองได้ เป็นการปรับระบบให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงควรให้ดำเนินการตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ จะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน หลังพ้นการระบาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ไปไม่ได้แปลว่าจะถอดหน้ากากทั้งหมดแล้วไม่ป้องกันตนเอง ยังจำเป็นต้องใส่ ยอมรับว่ามีการติดเชื้อมากขึ้น เหมือนสิงคโปร์ อังกฤษ ยุโรป แต่ตัวเลขที่มากขึ้นยังไม่มีนัยสำคัญกับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรงและเสียชีวิต

...

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ในประกาศสิ่งที่จะยกเลิก คือการรักษาแบบ Home Isolation หรือ HI ฮอสพิเทลและสิทธิยูเซ็ปพลัส เดิมให้ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใดก็ได้ ปรับให้ผู้ป่วยสีเหลืองกลับมารักษาฟรีตามสิทธิ แนวทางการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในขึ้นกับดุลพินิจและการวินิจฉัยของแพทย์ ส่วนผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤติยังใช้สิทธิยูเซ็ปพลัสเข้ารักษา รพ.แห่งใดก็ได้ตามเดิม การตรวจหาเชื้อตามแนวทางของกรมควบคุมโรค คือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หากสงสัยอาการรุนแรงให้โทร.สายด่วน 1669 เพื่อประเมินความรุนแรงและเดินทางไปยังสถานพยาบาล สายด่วน 1330 ยังให้ผู้ที่ข้องใจสอบถามได้หรือช่วยประสานหาเตียง จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจเพราะคนคุ้นชินกับระบบมาถึง 3 ปี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นบางจังหวัด ผู้ป่วย หนักและผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจมีรายงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่มีอาการน้อยไม่รุนแรง อัตราการครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองและสีแดงต่ำกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. ถึงปัจจุบันระบบสาธารณสุขเตรียมความพร้อมรองรับได้ทั้งเตียง แพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ขออย่าตื่นตระหนกและปฏิบัติตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention คือการป้องกันการติดโรค การเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากมีอาการน่าสงสัยควรตรวจหาเชื้อ และ Universal Vaccination คือรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน ฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน เน้นในกลุ่มเสี่ยง 608 รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์

เที่ยงวันเดียวกัน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,695 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 14 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 7 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,522,915 ราย เสียชีวิตสะสม 30,648 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขที่ ศบค.ให้ความสำคัญคือผู้ติดเชื้อปอดอักเสบที่วันนี้สูงถึง 684 ราย สูงจาก 2 สัปดาห์ก่อนและมีทิศทางสูงขึ้น แต่ยังถือว่ายังอยู่ในคาดการณ์ อัตราครองเตียงและศักยภาพบุคลากรยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ สำหรับผู้เสียชีวิต 14 ราย เป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด มี 6 ราย ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว หากดูการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นพบว่าผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 46.5% ยังไม่ถึงเป้าหมาย 60% ที่วางไว้ ถ้าดูภาพรวมของทั้งประเทศประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 42.6% ขอให้ประชาชนเข้ามารับวัคซีนกันมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเพียง 4 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกินเป้า 60% มี กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต ส่วนการถอดหน้ากาก ศบค.ชุดเล็กติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอด แต่มาตรการดังกล่าวไม่ใช่ให้ทุกคนถอดหน้ากาก ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา ขอให้ประชาชนฟังมาตรการในแต่ละพื้นที่ที่อาจแตกต่างจากคำสั่งในส่วนกลางได้ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการต่างๆ ที่สามารถออกประกาศเฉพาะส่วนที่รับผิดชอบได้

...

เมื่อถามว่า เชื้อกลายพันธุ์ BA.4-BA.5 ที่มีการพบในปัจจุบันมีความน่ากังวลหรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ที่พบเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ในประเทศไทยยังพบน้อย สายพันธุ์หลักยังคงเป็นโอมิครอน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยังไม่พบว่าเชื้อดังกล่าวจะรุนแรงเท่าเดลตา แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป ปัจจุบันยัง ไม่มีการปรับมาตรการอะไรเพื่อรองรับเชื้อดังกล่าว หากมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 8 ก.ค.

วันเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกระดับคำเตือนด้านสาธารณสุข เป็นระดับ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ หลังอัตราการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ขณะที่บริษัทเวชภัณฑ์ไฟเซอร์ สหรัฐฯ และบริษัทเวชภัณฑ์ไบออนเทค เยอรมนี แถลงร่วมว่า กำลังจะเริ่มการทดสอบวัคซีนต้านไวรัสรุ่นใหม่ในร่างกายมนุษย์โดยเชื่อว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรับมือเชื้อโอมิครอนสายย่อยไปจนถึงเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ หลังจากนี้ที่อาจมีความอันตรายมากขึ้น แต่มิได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เตือนให้ประเทศต่างๆอย่าปล่อยปละ ละเลยการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิง หลังยังคงระบาดต่อเนื่องเพิ่มเป็น 50 ประเทศ ทั้งมีรายงานเด็กติดเชื้อแล้วในอังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส ที่น่าวิตกกังวลว่าจะระบาดลุกลามในสถานศึกษา หรือแพร่กระจายไปยังกลุ่มสตรีมีครรภ์หรือไม่