ล่วงเลยเข้าสู่ปีที่แปดกับการรอคอยการประกาศข้อกำหนดขนาดสัดส่วนสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เหมาะสมต่อการทำการประมง ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ที่จะเป็นมาตรการทางกฎหมายเข้ามาบังคับควบคุมกำกับการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนทะเลไทยในอนาคตนี้

ด้วยปัจจุบันนี้ยังไม่มีการประกาศมาตรการนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2558 กลายเป็นเสมือนว่า “อนุญาตให้ทำการประมงจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” จนเกิดการกอบโกยในจำนวนปริมาณน้ำหนักให้ได้มากที่สุด ทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับไม่ทันโตขยายพันธุ์หมดไปเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาลทุกวันนี้

วันที่ 8 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันทะเลโลก หรือ World Ocean Day เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกสนใจรักษ์ทะเลกันแล้ว “ชาวประมงพื้นบ้านไทย” ถือโอกาสนี้รวบรวมรายชื่อในแคมเปญก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเคลื่อนไหว “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ในกิจกรรมล่องเรือทางไกล

จุดเริ่มต้นจาก “ภาคใต้เข้าเทียบท่ารัฐสภาฯ กทม.” รณรงค์หยุดจับ ขายซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนรัฐบาลเร่งบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมิให้สัตว์น้ำทะเลไทยวิกฤตินำไปสู่การสูญพันธุ์ถึงขั้นอวสานนี้ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า

...

เรื่องนี้ต้องย้อนไปในปี 2558 “ไทยโดนใบเหลืองจากอียู” มีข้อกล่าวหาว่าเป็นประเทศทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยอ้างอิงหลักมาตรฐานการทำประมงยั่งยืนตามองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่ทั่วโลกให้การยอมรับรวมถึงประเทศไทยด้วย

ด้วยสาเหตุจาก “รัฐบาลหลายสมัยปล่อยปละละเลยการทำประมง” ก่อให้เกิดการค้าแรงงานทาสกลางทะเลจนมีหลักฐานเกิดขึ้นชัดในปี 2558 และลักษณะการทําประมงไทยยังมากเกินไปไม่สมดุลตามศักยภาพของธรรมชาติ สะท้อนจากจำนวนเรือประมงและเครื่องมือประมง โดยเฉพาะอวนลาก และอวนรุนจับสัตว์น้ำหน้าดิน

กล่าวได้ว่า “เป็นเครื่องมือทําลายสูง” ไม่อาจคัดเลือกสัตว์น้ำเป้าหมายได้ อันเป็นส่วนหนึ่งในการทําประมงผิดต่อสมดุลทางธรรมชาติ “ยุโรป” จึงประกาศแจ้งเตือนจะงดนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงไทย

คราวนั้น “รัฐบาล คสช.ประกาศ พ.ร.ก.การประมงฯ” เพื่อแก้ไขปัญหาการทําประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนแรก...“การควบคุมคนทำประมง” ผู้ใดประสงค์ต้องการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน จำเป็นต้องมีการจดแจ้งลงทะเบียน

พร้อมมีระบบตรวจเข้า-ออกท่าเรือ ตรวจอุปกรณ์เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เพื่อให้การทำประมงถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่สอง...“สร้างกติกาทำประมง” กำหนดข้อห้ามเครื่องมือ และขอบเขตพื้นที่อนุญาตทำประมง

ส่วนที่สาม... “กำหนดผลลัพธ์การจับสัตว์น้ำ” ตาม ม.57 ห้ามมิให้จับสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำมีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรี (รมว.) ประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง แล้วกรณีมีสัตว์น้ำตาม ม.57 ติดมาโดยบังเอิญก็ให้ รมว. หรือ คกก.ประมงจังหวัดออกประกาศตาม ม.71 (2) กำหนดสัดส่วน เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

ปัญหาว่า “ผ่านล่วงเลยมาเกือบ 8 ปีข้อกำหนดขนาดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนตาม ม.57 และ ม.71 (2)” ไม่มีวี่แววประกาศบังคับใช้จนวันนี้ทำให้ “สัตว์น้ำวัยอ่อน” ถูกจับอย่างไม่มีข้อจำกัดส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในทะเล ชาวประมง และผู้บริโภคตามมา โดยเฉพาะ “ปลาทูสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทย” มีตัวเลขลดลงเรื่อยๆ

เดิมในปี 2557 เคยจับได้ 1.2 แสนกว่าตัน ในปี 2558 ลดลงเหลือ 4 หมื่นกว่าตัน ปี 2559-2560 เหลือ 2 หมื่นตัน ปี 2561 เหลือ 1 หมื่นตัน ปี 2562 จับได้ 2 หมื่นกว่าตัน ปี 2563 ลดเหลือ 1 หมื่นตัน

...

สรุปได้ว่า พ.ร.ก.การประมงฯ ยังไม่กำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำทะเล และสัดส่วนเหมาะกับการทำประมงนี้ออกมาเลย ทำให้โอกาสฟื้นตัวสัตว์น้ำคืนมาดังเดิมเป็นไปได้ยาก

ทว่าประเด็น “ปลาทูที่หายไป” นักวิชาการบางคนมุ่งเป้าชี้ถึงสาเหตุมาจากผลกระทบสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอุณหภูมิผิวน้ำสูงขึ้น “ปลาทูย้ายถิ่นไปหากินที่อื่น” แต่เมื่อเรามีการสำรวจกลับพบปลาทูตัวอ่อนถูกแปรสภาพเป็น “ปลาทูแก้วทอดกรอบ” วางขายกันเกลื่อนตามห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และตลาดออนไลน์

ทำให้ถึงบางอ้อว่า “ปลาทูที่หายไปนั้นถูกจับมาตั้งแต่เป็นตัวอ่อนแล้วชื่อเรียกเป็นปลาแก้ว” นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างอาหารทะเลไทยกำลังหายไป แล้วมีสัตว์น้ำตัวอ่อนชนิดอื่นเจอวิบากกรรมเดียวกัน เช่น “หมึกกล้วยโตเต็มวัยจะมีขนาด 10 ซม.” แต่ไม่ทันโตก็ถูกจับมาขายในชื่อเรียกหมึกกะตอย “ปลากะตัก” เปลี่ยนชื่อปลาข้าวสาร

ไม่เว้นแม้แต่ “ปูม้า” ก็ถูกเรียกว่าปูกะตอย จนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า “เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นชื่อสัตว์น้ำสายพันธุ์ขนาดเล็ก” ทั้งที่จริงล้วนเป็นสัตว์น้ำวัยเด็กอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัยเท่านั้นเอง

...

ประการนี้ “ปลาทูที่คนไทยรับประทานกันอยู่ 90%” เป็นปลาทูแช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน อิหร่าน โอมาน และเยเมน 500,000 ตันต่อปี

ถ้าพูดถึง “รสชาติต่างจากปลาทูไทย” เพราะปลาทูนำเข้าต้องแช่ฟรีซตู้คอนเทนเนอร์อยู่นานหลายเดือน “รสชาติย่อมเปลี่ยนเป็นธรรมดา” ส่วนปลาทูไทยจับมาได้ก็ขายไปย่อมมีความสดรสชาติอร่อยกว่าอยู่แล้ว

ข้อสังเกต “ความแตกต่างปลาทูนำเข้ากับปลาทูไทย” คนทั่วไปดูออกได้ยาก ยกเว้นผู้อยู่ในวงอาหารทะเลจะสามารถแยกได้ “คุณค่าทางสารอาหารก็ต่างกัน” เพราะทะเลอ่าวไทยมีตะกอนแหล่งกำเนินแพลงก์ตอนไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงอ่าวไทย ทำให้ปลาทูไทยได้รับสารอาหารอุดมสมบูรณ์เต็มด้วยไขมันสารอาหารสูง

เรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับกรณีการศึกษาวงรอบ “การวางไข่ปลาทู” ที่เริ่มจากหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานีแล้วขึ้นเหนือมาชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีมาหาแหล่งอาหารใน จ.สมุทรสงครามแล้ววนกลับลงไป

เช่นนี้จึงมี “ฤดูปิดอ่าวไทยรูปตัว ก” เพื่อปกป้องแม่ปลาทูสาวในฤดูมีไข่พื้นที่ 8 จังหวัดในช่วง 15 มิ.ย.-30 ก.ย.ของทุกปี แต่ปัญหาคือว่า “เมื่อแม่ปลาทูวางไข่แล้วมักเปิดอ่าว” กลายเป็นเปิดโอกาสให้เรือประมงอุตสาหกรรมจับปลาตัวอ่อนป้อนให้โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ และปล่อยขายเป็นปลาแก้วทอดกรอบตามตลาด

...

ดังนั้น เรื่องนี้ตอบโจทย์เฉพาะ “การฟื้นฟูสัตว์น้ำในฤดูมีไข่” ปกป้องแม่ปลาให้วางไข่เท่านั้น แต่ไม่อาจปกป้องลูกปลาตัวอ่อนได้ “กลายเป็นวัฏจักรวนเวียนแบบนี้ทุกปี” ทำให้ตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำหายไปจำนวนมาก

ทว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ “ยกระดับข้ามขั้นเหนือปัญหาความขัดแย้งของประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ไปโดยสิ้นเชิง” แต่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่กระทบในแง่ “เศรษฐกิจรุนแรง” ที่ต้องสูญเสียมูลค่ามหาศาลอย่างเช่น “ปลาทูตัวอ่อน” ที่ถูกจับมาแปรรูปขายเป็นปลาแก้วทอดกรอบ 1 พันตัว/กก.ราคา 100-200 บาท

ในแง่เศรษฐกิจถ้าปล่อยให้โตเต็มวัยขนาด 10 ตัวต่อ กก.สามารถขายได้ 100 บาท แล้วใน 1 พันตัวจะได้ 100 กก.เท่ากับขายได้เงิน 1 หมื่นบาท แต่ละปีปลาทูหายไป 1 แสนตัน คิดตัวเลขกลมๆมีมูลค่าหมื่นล้านบาท

ยิ่งกว่านั้นนับวันสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม “ตัวเลขการจับสัตว์น้ำ” ไม่ว่าจะเป็นเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือประมงพาณิชย์มีแนวโน้มการจับได้ลดลง เดิมในปี 2558 กำหนดปริมาณการจับไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เป็นจำนวนการอนุญาตให้จับตามความเหมาะสมสมดุลในระดับทรัพยากรทางทะเลสามารถฟื้นฟูได้ทัน

แต่ปรากฏว่า “สถิติการจับมีแนวโน้มดิ่งลดลงเรื่อยๆ” ล่าสุดในปี 2564 สามารถจับสัตว์น้ำในทะเลไทยได้ 1.2 ล้านตัน นั่นหมายถึงว่า “สัตว์น้ำหายไปกว่า 3 แสนตัน หรือ 300 ล้าน กก.” ดังนั้นเมื่อซัพพลายมีน้อยไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภคก็ย่อมส่งผลต่อราคามูลค่าสัตว์น้ำในตลาดทั่วไปพุ่งสูงขึ้นตามมา

แม้ประเทศไทยมีภูมิประเทศทางกายภาพพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร “เป็นแหล่งสัตว์น้ำชั้นดี” แต่ด้วยไม่มีมาตรการกำหนดขนาดการจับพันธุ์สัตว์น้ำทะเล และสัดส่วนที่เหมาะสมทำประมง ทำให้อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ขยายตัวกอบโกยด้วยเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมจับสัตว์น้ำทำเป็นปลาป่นป้อนให้โรงงานอาหารสัตว์ที่ต้องการสูง

ฉะนั้น ไม่ว่าสัตว์น้ำเล็กหรือใหญ่อยู่ในสภาพแบบใด “อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต้องการทั้งสิ้น” นี่เป็นอีกปัญหาสำคัญในการทำลายสัตว์น้ำตัวอ่อน ที่เราไม่ค่อยพูดกันจึงต้องติดตามกันต่อไป...