การสัมมนาเชิงปฏิบัติการต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2566-2570 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีการนำเสนอผลสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564)
สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ 1,515,132 ไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ 95,752 ราย สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ได้ 5,345.33 ล้านบาท
สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว
พร้อมกันนี้มีการนำเสนอองค์ประกอบในร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2566-2570 ที่มีสาระสำคัญ วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2570”
ปี 2570 จะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2.0 ล้านไร่ มีเกษตรกรผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (PGS/ มกษ. 9000/มาตรฐานสากล) ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนราย และสินค้าเกษตรอินทรีย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี
พร้อมกับมีการนำเสนอในเรื่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ที่ควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผ่านระบบ Online รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์
ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ เน้นระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) จัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS รวมถึงการส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเทียบเคียงมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานอาเซียน (ASOA) เป็นต้น
...
ด้านการตลาด ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาด Online เพื่อนำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการผลิตของเกษตรกรได้.
สะ-เล-เต