ภายในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน...มีพระพุทธนฤมลธรรโมภาส เป็นพระประธาน...สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ศิลปะแบบโกธิค ทรวดทรงสูงระหง มียอดแหลม เพดานโค้ง จึงมีพื้นที่ว่างไปในทางสูง

ด้านล่าง ยังมีพระนิรันตราย (หน้าตัก 5 นิ้ว สูง 13 นิ้ว สำริดกะไหล่ทอง) ประดิษฐานอยู่อีกองค์หนึ่ง

พระพุทธรูปสององค์นี้ ฝีมือพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นายช่างเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ความงดงามอลังการฝีมือสร้างพระองค์ท่าน กล่าวกันว่า “สิ้นสุดที่องค์นี้” (พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร พ.ศ.2541)

หมายความว่า ในบรรดาพระพุทธรูปงามๆศิลปะรัตนโกสินทร์ทั้งหลาย ไม่มีองค์ใดเทียบเทียมได้อีก

ที่มาของการสร้างพระนิรันตราย...มาจากพระพุทธรูปทองคำแท้หนัก 8 ตำลึง หน้าตัก 3 นิ้ว มีผู้พบในป่าดงศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี แล้วนำมาทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โปรดให้อัญเชิญไปเก็บรักษา ณ หอเสถียรธรรมปริต คู่กับพระกริ่งทองคำองค์เล็ก ต่อมามีผู้โจรกรรมพระกริ่งไป พระพุทธรูปทองคำแท้ 8 ตำลึงยังคงอยู่

พระพุทธรูปทองคำ รอดมือจากผู้พบครั้งแรก ไม่นำไปหลอมเป็นเนื้อทองคำไปขาย แล้วยังรอดจากมือโจรเป็นหนสอง ทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงถวายนามว่า พระนิรันตราย

แล้วโปรดให้หล่อพระพุทธรูปเนื้อทองคำ สวมพระนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่ง

พระพุทธรูปที่หล่อสวมนี้ ทรงมีพระราชดำริแบบด้วยพระองค์เอง (พระเศียรไม่มีมุ่นพระโมลี) เบื้องหลังมีเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์

ยอดเรือนเป็นรูปพระมหามงกุฎ ทรงโปรดให้สร้างแบบเดียวกัน เป็นเนื้อเงิน ไว้คู่กันอีกองค์หนึ่ง

ต่อมาเมื่อปี 2411 มีวัดธรรมยุตเกิดขึ้นแพร่หลาย ควรมีพระพุทธรูปเป็นที่ระลึก โปรดให้ช่างหล่อพระนิรันตรายด้วยทองเหลืองกะไหล่ทองจำนวน 18 องค์ เท่ากับจำนวนปีที่ทรงครองราชย์

...

โดยยังมีพระราชดำริจะหล่อเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1 องค์ แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

มาถึงรัชกาลที่ 5 โปรดให้กะไหล่ทองพระนิรันตราย 18 องค์ที่ค้างจากรัชกาลก่อนให้แล้วเสร็จ แล้วถวายไปตามวัดธรรมยุติกนิกาย เช่นวัดบวรนิเวศฯ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ วัดโสมนัส วัดราชาธิวาส วัดนิเวศธรรมประวัติ

พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จดำรงในสิริราชสมบัติเท่าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 16 องค์ จำนวนเท่าปีที่ทรงสิริราชสมบัติ เป็นพระพุทธรูปกะไหล่ทองปางสมาธิ

มีรูปนาคแปลงเป็นมนุษย์ เชิญฉัตรกั้นข้างหนึ่ง เชิญพัดโบกข้างหนึ่ง

ถวายพระนามว่า พระนิรโรคันตราย

(ใครที่ได้เทียบเคียง พระนิรันตราย และพระนิรโรคันตราย จะเห็นได้ชัดเจน ฝีมือสร้างต่างกัน)

มีพระราชดำริพระราชทานไปยังอารามหลวงมหานิกาย 15 องค์ อีกองค์หนึ่งสำหรับพระองค์เอง

แต่เมื่อสร้างสำเร็จ ยังไม่ทันได้ประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ก็สิ้นรัชกาล

ครั้นในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แล้วโปรดให้เชิญพระนิรโรคันตราย ไปพระราชทานยังพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย

เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

มีข้อน่าสังเกต การสร้างพระนิรันตราย และพระนิรโรคันตราย ในสมัย ร.4 และสมัย ร.6 มีเหตุมาแต่การฉลองสิริราชสมบัติ เมื่อสร้างแล้ว เป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล ทำให้การสำเร็จตามพระราชประสงค์ในรัชกาลใหม่ทั้งสองคราว

พระนิรันตราย ในวัดธรรมยุตยุคแรก สมัย ร.4 แต่พระนิรโรคันตราย เท่าที่รู้มีอยู่ในพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ฯ อาจเพราะเป็นพระขนาดเล็ก จึงไม่ได้เห็นกันในวัดมหานิกายอื่น.

กิเลน ประลองเชิง