เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ จัดเวทีนำเสนอข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ” นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และก่อให้เกิดคดีล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน การที่จะให้เด็กหรือผู้หญิงออกมากล้าฟ้องหรือแจ้งความเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เช่น พ่อทำลูก แต่ลูกไม่กล้าบอก นอกจากนี้การทำงานเกี่ยวกับคดีล่วงละเมิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยเครือข่าย ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอซึ่งมีความลึกในเชิงข้อมูลและการเข้าถึงพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำงานเป็นเครือข่ายและให้ผู้ถูกกระทำได้รับรู้สิทธิและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกว่าจะสิ้นสุด

ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยพบผู้หญิงถูกล่วงละเมิดไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ปีละ 30,000 ราย ทั้งยังมีอีกมากที่ไม่ถูกเปิดเผย

ขณะที่ น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ได้ศึกษาวิจัยเก็บข้อมูลกลุ่มเด็กพิการ ผู้หญิงพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงช่วงเดือน ต.ค.2564-ม.ค.2565 จำนวน 51 กรณี ใน 31 จังหวัด พบว่ามีเพียง 29% ที่มีการแจ้งความผู้กระทำผิด โดย 71% ไม่แจ้งความ ใน 29% ที่แจ้งความมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำเพียง 27% ขณะที่ 73% คดีไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคู่กรณีมีอิทธิพล บางรายหนีออกจากพื้นที่ ไม่สามารถบอกลักษณะคนร้ายได้และบางกรณีไม่สามารถบอกจุดเกิดเหตุได้ ส่วนสาเหตุที่ผู้ถูกกระทำ 71% ไม่ยอมแจ้งความ เนื่องจากส่วนใหญ่ 55% ผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว เช่น พ่อ ญาติพี่น้อง ทำให้คนในครอบครัวซึ่งเป็นเพศหญิงด้วยกันเพิกเฉย นอกจากนี้ 30% ขอให้ไกล่เกลี่ย 5% กลัว อาย 5% มีอุปสรรคในการแจ้ง เช่น การเดินทางการสื่อสาร 3% ผู้กระทำมีอิทธิพล ใช้อำนาจ และ 2% ตำรวจไม่รับแจ้ง เพราะให้การไม่เป็นประโยชน์ ผู้พิการสื่อสารไม่ได้ ทั้งนี้จะรวบรวมข้อเสนอแนะส่งถึงภาครัฐให้ความสำคัญแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย.

...