น้ำเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต...นี่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าคิดจะแก้จนเกษตรกร รัฐต้องหาน้ำมาให้เกษตรกรทำมาหากินได้ทั้งปี...อย่างอื่นแทบไม่ต้องเอามาแจกให้สูญเปล่าเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ต.นาไหม อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ที่มี 13 หมู่บ้าน เนื้อที่ 64,222 ไร่ ประชากร 10,475 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ทำมาหากินได้เฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น หมดหน้านาต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่ เหมือนพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นเพราะหน้าแล้งไม่มีน้ำให้ทำมาหากินได้

แต่ชีวิตของคนนาไหมกำลังจะเปลี่ยนไปเพราะธนาคารน้ำใต้ดิน ที่มี นายนิรันดร์ โคตรปัจจิม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาไหม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการสร้างแหล่งน้ำมาชุบชีวิตให้กับลูกบ้านทั้ง 13 หมู่บ้าน ด้วยการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินครอบคลุมทั้งตำบลกันเลยทีเดียว

“บ้านเราก็เหมือนที่อื่นๆในภาคอีสาน จะทำมาหากินต้องพึ่งพาน้ำฝน ปีหนึ่งทำกินได้ 5 เดือน ฝนมาน้ำท่วมฝนหมดน้ำแล้ง ลำห้วยถึงจะมีฝายแต่พอถึงหน้าแล้งมีน้ำให้ใช้ไม่พอ แม้จะมีการขุดบ่อขุดสระไว้ก็ตาม หน้าแล้งน้ำแห้ง ขอด ปี 2562 เราเลยไปดูงานการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินทั้งที่ อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี และ อบต.วังหามแห อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ทำให้เรารู้ว่าทำไมบ่อสระที่เราขุดไว้ถึงได้แห้งขอด เพราะเราขุดไว้ไม่ลึกพอ ขุดลึกไม่ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เราขุดแค่ถึงชั้นดินเหนียวเท่านั้นเอง

...

กลับมาก็จัดการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินเลยทันที วางแผนทำแบบให้ครอบคลุมทั้งตำบล ด้วยการส่งแผนที่กูเกิลเอิร์ธไปให้ อ.โกวิท ดอกไม้ กูรูระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยวางจุดพิกัดตำแหน่งของธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อเปิดทั้งหมดที่ต้องมี 25 จุด”

นายนิรันดร์ โคตรปัจจิม นายก อบต.นาไหม เล่าถึงที่มาของการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินในตำบลของตัวเอง ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2566 จะทำให้เต็มทั้งระบบ ขุดสระธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อเปิดให้ได้ครบ 25 จุด...แต่ปัจจุบันทำได้เพียงครึ่งเดียว แค่ 12 จุด โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และงบประมาณของ อบต.นาไหมเอง ขุดเป็นสระขนาดกว้าง 50 เมตร ยาว 60 เมตร ลึก 5 เมตร ทะลุถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

นอกจากทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อเปิดแล้ว ในชุมชนยังทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อปิดเสริมขึ้นมาด้วย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและเติมน้ำลงใต้ดิน มีทั้งขุดเป็นบ่อให้น้ำซึมลงใต้ดิน แล้วใกล้ๆกันมีบ่อให้สูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ พร้อมกันนั้น 2 ข้างถนนที่น้ำท่วมเป็นประจำในช่วงฤดูฝน แทนที่จะทำเป็นคูระบบน้ำแบบดาดคอนกรีต เปลี่ยนมาทำเป็นธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อปิดแทน

“สองข้องถนนเราขุดเป็นคูกว้าง 50 ซม. ลึก 50 ซม. ขนานไปตามความยาวของถนน ด้านล่างใส่หินก้อนใหญ่ ด้านบนโรยหินก้อนเล็ก ทุกระยะ 20 เมตรจะมีท่อระบายอากาศให้น้ำซึมได้ดี ตั้งแต่ปี 2562 มาถึงวันนี้เราทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด 2 ข้างถนนไปได้แล้วร่วม 3,000 เมตร เราทำอย่างนี้เพราะคูน้ำระบบแบบเก่าที่ดาดด้วยคอนกรีต นอกจากน้ำซึมลงใต้ดินได้ไม่ดี ยังมีปัญหาน้ำระบายไม่ทัน พอฝนตกน้ำเลยท่วมขังถนนทุกปี แต่พอเปลี่ยนมาทำอย่างนี้ ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนในหน้าฝนไม่เกิดขึ้นอีกเลย แล้วยังได้ผลดีในเรื่องน้ำที่ซึมลงไปใต้ดินจะได้ไหลซึมไปรวมอยู่ในธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อเปิด ให้เราได้ใช้ทำเกษตรอีกด้วย”

นายก อบต.นาไหม ยังเผยผลที่ได้จากการทำธนาคารน้ำใต้ดินในช่วงที่ผ่านมา แม้จะไม่ถึงเป้าหมาย ได้แค่เพียงครึ่งเดียว ว่า ทุกวันนี้น้ำในบ่อเปิดไม่เคยแห้งขอดอีกเลย หน้าแล้งมีน้ำให้สูบขึ้นมาใช้ได้ตลอด

น้ำประปาหมู่บ้านที่เคยมีปัญหาน้ำไม่ไหลในหน้าแล้ง ปัจจุบันปัญหานี้หมดไป ที่สำคัญคนในหมู่บ้านที่มีระบบธนาคารน้ำใต้ดินครอบคลุมถึง สามารถปลูกผักขายในหน้าแล้งได้แล้ว และสามารถปลูกพืชแบบผสมผสานได้แล้ว เพราะมีน้ำให้ทำกิน

...

แบบอย่างการพัฒนาชนบทเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะยากเกินกว่าที่ภาครัฐจะทำได้หรือเปล่า…อย่ามัวเสียเวลาเดินจับเป้าตามก้นคนใหญ่คนโตให้เปล่าประโยชน์เลยนะท่าน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์