รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ สำรวจภาวะโภชนาการเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 หรือ South East Asian Nutrition Surveys II (SEANUTS II) ในประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาวะโภชนาการเด็กในอาเซียน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างฟรีสแลนด์คัมพิน่าและ 4 สถาบันการศึกษาใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 ในเด็กอายุ 6 เดือน-12 ปี จำนวน 14,000 คน ระหว่างปี พ.ศ.2562-2564 ซึ่งครั้งนี้ยังพบปัญหาภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ความสามารถในการเรียนรู้ในโรงเรียน โดยไทยพบ 1 ใน 16 คนของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี, อินโดนีเซียพบ 1 ใน 35 คน, มาเลเซียพบ 1 ใน 7 คน และเวียดนามพบ 1 ใน 10 คน ขณะที่เด็กโตประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะพัฒนาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น โดยมาเลเซีย ไทย เวียดนาม พบร้อยละ 30-32 ของเด็กโตที่มีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ขณะที่อินโดนีเซียพบร้อยละ 15

รศ.ดร.นิภากล่าวต่อว่า ส่วนผลสำรวจที่ประเมินจากการบริโภคอาหาร พบว่า มากกว่าร้อยละ 70 ของเด็กในทั้ง 4 ประเทศ ไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับปริมาณค่าเฉลี่ยที่ควรได้รับในแต่ละวัน และมากกว่าร้อยละ 84 ได้รับวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนภาวะโลหิตจาง พบว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี มากกว่าร้อยละ 24 มีภาวะโลหิตจาง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ตัวเลขจากผลสำรวจเป็นสัญญาณสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโภชนาการ รวมถึงการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีสารอาหารสำคัญที่จำเป็นและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก จากประเด็นปัญหาทุพโภชนาการข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเติมเต็มช่องว่างทางโภชนาการที่ขาดหาย ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยไม่ได้ละเลยการรับประทานอาหารเช้า แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่รับประทานอาหารเช้า ซึ่งผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าปริมาณแคลอรีในอาหารเช้า มีความสัมพันธ์กับคุณภาพอาหารที่ได้รับตลอดทั้งวัน ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า การเริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก.

...