ยุคการเปลี่ยนแปลงทางสังคมปัจจุบัน “กำลังสร้างให้คนไทยเผชิญความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตประจำวัน” จนในทุกย่างก้าวต่างเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และปัญหาสุขภาพร่างกาย อันเป็นความไม่แน่นอนที่มักคร่าชีวิตผู้คนมาครั้งแล้วครั้งเล่า

แล้วมีคนจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็น “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ที่ต้องเจอความทุกข์ทรมานทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ที่ส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวต่างเฝ้ามองอย่างเป็นทุกขเวทนานั้น ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมเรื่องการจากไปอย่างสงบนับเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด

ทำให้เกิดจิตอาสากลุ่มเล็กๆ “จัดกิจกรรมโครงการศิลป์ส่องธรรมรุ่น 1” ที่ช่วยกันในมิติเกื้อกูล เมตตาพัฒนาจิตใจแก่ “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และคนชราอายุ 70 ปีขึ้นไป” เพื่อให้มีโอกาสสร้างกุศลสุดท้ายของชีวิตนี้

ผ่านกระบวนการร่วม “ผลงานพุทธศิลป์ผสมผสานวรรณศิลป์” กิจกรรมปั้นพระพุทธรูปขนาด 7 นิ้ว อันเป็นงานศิลป์ส่องธรรมที่พึ่งทางใจในระหว่างอบรม “พระสงฆ์ก็มาเทศนาสนทนาธรรม” เพื่อน้อมนำใจให้ผู้เข้าอบรมมีความผ่องใส สงบ ใจเย็น มีสติ และเตรียมความพร้อมสู่การจากไปอย่างสงบนี้

...

อรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในฐานะผู้แทนโครงการนี้ เล่าว่า โครงการศิลป์ส่องธรรมเป็นการต่อยอดจาก “โครงการปั้นดินให้เป็นบุญ” ครั้งนี้สอนผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวางปั้นพระพุทธรูปนำไปมอบให้แก่วัดและโรงพยาบาล เพื่อฟื้นฟูจิตใจพัฒนาให้นักโทษมองเห็นคุณค่าของตัวเอง

แต่ด้วยในช่วง 2-3 ปีมานี้ “โควิด–19 ระบาดหนัก” ต้องหยุดกิจกรรมงานพุทธศิลป์ในเรือนจำบางขวางชั่วคราว เลยหันมาช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง และผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป เพื่อให้มีกำลังใจค้นพบปลายทางของชีวิตที่ดีมีความสงบร่มเย็น

ด้วย “กิจกรรมพุทธศิลป์” ปั้นพระพุทธรูปองค์เล็ก 7 นิ้ว นำมาผสมผสานกับ “กิจกรรมวรรณศิลป์” ในการเขียนจดหมายถึงพระพุทธรูปที่ปั้นขึ้น เป็นการทบทวนย้อนมองสิ่งค้างคาในจิตใจ

เมื่อปั้นเสร็จก็นำมาสู่การขัดแต่งจาก “ผู้พิการสายตา หูหนวก และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว” แล้วนิมนต์พระวัดบวรนิเวศมาเทศนาธรรมทำพิธีเบิกเนตรนำมอบให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายใน รพ.นครปฐมต่อไป

ความจริงแล้ว “พุทธศิลป์ วรรณศิลป์ และธรรมะไม่อาจรักษาผู้ป่วยทางกายได้” แต่ช่วยเยียวยาจิตใจให้พบความสงบร่มเย็น เพราะการปั้นพระเป็นงานศิลปะใช้ความละเอียดอ่อน ที่ต้องคุมอารมณ์และใช้สมาธิขั้นสูง เพื่อให้งานออกมาสำเร็จสวยงาม ทำให้กิจกรรมนี้สามารถพัฒนาจิตใจให้สงบไม่คิดฟุ้งซ่านได้ดีขึ้น

สิ่งสำคัญได้เห็น “ผู้เข้าอบรมมีความสุขที่ได้ปั้นพระพุทธรูป” เพราะน้อยคนจะมีโอกาสได้ปั้นพระให้คนกราบไหว้แบบนี้ ส่วนใหญ่อยากทำบุญก็ไปวัดสวดมนต์บริจาคเงินบริจาคทรัพย์ แต่ครั้งนี้ เป็นการลงมือทำสัมผัสทุกขั้นตอน “ยิ่งทำให้ทุกคนมีความสุข” แล้วเราฐานะผู้จัดก็รู้สึกอิ่มเอมใจในสิ่งที่ทำให้เขามีพลังใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยดี

พระมหาวโรตม์ ธัมมวโร พระวัดบวรนิเวศวิหาร เล่าว่า ความจริงไม่ว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยทั่วไป หรือผู้สูงอายุ ล้วนมีเรื่องบางอย่างติดค้างในใจไม่มีโอกาสระบายสิ่งนั้นออกมาต้องเก็บไว้คนเดียวลำพัง กลายเป็นความกังวลเกิดเป็นความทุกข์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจมากน้อยต่างกันออกไป

...

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมต้องมีคนคอยยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลผ่อนถ่ายความทุกข์ร้อนความรู้สึกในใจนั้นออกมา เพื่อบรรเทาความกังวล ผ่อนคลายอารมณ์ และปลดปล่อยความทุกข์ในใจให้เกิดความสบายมากที่สุด เพราะหากเดินทางมาถึง “วาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว” จะได้ปล่อยวางจากไปอย่างสบายไม่มีสิ่งใดค้างคาจิตใจอีก

เพราะไม่อยากให้รอเป็น “ผู้ป่วยระยะสุดท้ายและชรามาก” จนหมดหวังต้องนอนรอเวลาแบบไม่รับรู้อะไรแล้ว “ค่อยมานั่งนึกถึงโอกาสพูดเรื่องค้างคาในใจ หรือคิดทำความดี” ดังนั้น โครงการศิลป์ส่องธรรมดึงเอาบุคคลอันอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่รู้ตัว ให้มี “พื้นที่มาขัดเกลาจิตใจ” ด้วยงานพุทธศิลป์ผสมผสานวรรณศิลป์

ในการปั้นพระพุทธรูปนี้ก็มี “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้สูงอายุคนอื่นๆ” มาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียน ประสบการณ์วิธีการดูแลตนเอง และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่กันและกัน เพื่อนำไปปรับตัวทำใจยอมรับกับชีวิตที่เหลืออยู่ให้สามารถดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้

...

ถามว่า “การปั้นพระเป็นบุญช่วยต่ออายุขัยได้หรือไม่...?” สิ่งนี้ต้องอยู่ที่สภาพอาการ จิตใจ และการดูแลรักษาตัวของผู้ป่วย “แต่การปั้นพระพุทธรูปอันเป็นเสมือนสิ่งดีงามเป็นสิริมงคลสูงสุดต่อชีวิต” จะเข้ามาช่วยส่งเสริมบันทึกความทรงจำเรื่องราวสิ่งดีๆในช่วงหนึ่ง ให้ได้จดจำที่จะยกระดับจิตใจให้สว่างไสวมีความสุขยิ่งขึ้น

อย่างเช่น กรณีโยมพ่อก่อนเสียชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายท่านออกทำบุญเกี่ยวกับพระพุทธรูป ทั้งสร้างพระพุทธรูปถวาย บริจาคพระให้วัดต่างๆ วันสุดท้ายของการเจ็บป่วยอาตมาพยายามกระซิบข้างหูให้นึกถึงพระพุทธรูปที่โยมพ่อสร้างไว้ ไม่น่าเชื่อจากคนกำลังมีอาการกระสับกระส่าย กลายเป็นสงบเงียบลงค่อยๆจากไปอย่างมีความสุข

ดังนั้นแล้วอยากให้ “พระศิลป์ส่องธรรม” ที่ผู้เข้าอบรมในกิจกรรมนี้ที่ลงมือปฏิบัติปั้นดินให้เป็นพระพุทธรูป “เกิดความทรงจำที่ดีๆครั้งสุดท้ายของชีวิต” แล้วเชื่อมั่นว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดในจำนวนพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นมาบนโลกใบนี้ เพราะถูกปั้นออกจากพลังแรงกายของหน่วยงานหลายฝ่ายช่วยกันทำขึ้น

...

ยิ่งกว่านั้น “ศิลป์ส่องธรรม” ยังเป็นงานพุทธศิลป์ไม่ใช่เป็นเพียงการปั้นพระพุทธรูปเท่านั้น แต่ทำให้ได้รับประโยชน์ 2 อย่าง คือการขัดเกลาปั้นแต่งจิตใจของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ อันจะสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจออกมาสู่การปั้นขึ้นรูปพระนั้น เพราะถ้าคนปั้นจิตใจว้าวุ่นไม่สงบ วิตกกังวลมากจนเกินไป...

ผลตามมาคือ “พระพุทธรูปนั้นก็จะออกมาไม่ดี” ดังนั้น คนปั้นต้องมีสมาธิมีความมุ่งมั่นเอาใจใส่ในงานเต็มที่ “เพื่อให้งานออกมาสำเร็จสวยงาม” สิ่งสำคัญพระพุทธรูปปั้นเสร็จจะส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลนำไปไว้บนหัวเตียงผู้ป่วยระยะสุดท้ายคนอื่น เสมือนผู้ปั้นพระตั้งจิตประกอบด้วยเมตตาอันมีไมตรีจิตปรารถนาดีด้วยใจจริง

เพราะไม่มีใครรู้เลยว่า “อาการป่วยจะรุนแรงทำให้ต้องจากไปไกลวันใด” แต่ในเรื่องราวความทรงจำดีๆที่กระทำไว้ครั้งนี้ “จะเป็นเสมือนบุญกุศลให้หัวใจสบายพองโต” ทำให้มีพลังเรี่ยวแรงต่อสู้ต้านทานต่อโรคร้ายที่เป็นอยู่สามารถใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์มีคุณค่าสูงสุดได้ด้วยซ้ำ

แม้ว่าใกล้จากไป “ผลความดีในการปั้นพระพุทธรูปกุศลสุดท้าย” จะค่อยนำพาให้ออกเดินทางไปด้วยความสบาย ไม่มีเรื่องเป็นห่วงกังวลติดค้างคาใจ “ปล่อยวางทุกอย่าง” ช่วยลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานนั้นได้

เช่นเดียวกับ “แม่สุธา อายุ 75 ปี” ผู้ร่วมโครงการศิลป์ส่องธรรมรุ่น 1 เล่าว่า ตลอดการดำเนินชีวิตมาผ่านปัญหาอุปสรรคและความทุกข์เกิดขึ้นมากมาย ในบางอย่างก็ไม่อาจย้อนกลับมาแก้ไขได้ กลายเป็นบาดแผลใหญ่อยู่ในใจเสมอ แต่เราต้องพยายามอยู่กับบาดแผลนั้นให้ได้ จนสามารถก้าวพ้นจุดนั้นแล้วมีความสุขจนมาถึงทุกวันนี้

แต่ว่า “การได้เข้าร่วมกิจกรรมปั้นพระศิลป์ส่องธรรม” ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของชีวิตที่มีโอกาสสัมผัสลงมือปฏิบัติปั้นพระพุทธรูปด้วยตัวเองที่ต้องใช้สมาธิเยอะ แล้วทุกวันจิตใจมักจดจ่ออยู่กับการปั้นแทบไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น ทำให้ความสุขอยู่กับการปั้นพระอันเป็นเหมือนตัวช่วยขัดเกลาจิตใจตนเองในตัว

ย้ำความตั้งใจเขียนใบสมัครมาเพราะ “อยากปั้นพระพุทธรูปด้วยมือตัวเอง” เมื่อทำไปก็มีความรู้สึกผูกพันกับพระองค์ที่ปั้นนั้น จนต้องสั่งหล่อนำกลับไปบูชา และแจกลูกหลานเป็นสิริมงคลต่อครอบครัวต่อไป

นี่คือกิจกรรมเล็กๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าทางจิตใจต่อ “ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ” เป็นพื้นที่ให้ได้สร้างสรรค์ประโยชน์แก่ตัวเอง และผู้อื่น ก่อให้เกิดมิติของความเกื้อกูล เมตตา พัฒนาจิตใจงดงามดีขึ้น...