ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า หลังจากไบโอเทค ได้พัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง และผลักดันให้เกิดการนำชุดตรวจไปใช้ประโยชน์กับหน่วยงานที่สนใจนำนวัตกรรมไปใช้จริง เริ่มต้นจากจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างทักษะและความสามารถในการตรวจโรคใบด่างด้วยเทคนิคอิไลซ่าให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนใจ จากนั้นสนับสนุนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ รวมถึงส่งมอบชุดตรวจอิไลซ่าและเครื่องอ่านผล WellScan ให้กับหน่วยงานที่มีความพร้อม

ปัจจุบันมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการแล้ว 5 แห่ง คือ บ.สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด จ.นครราชสีมา, บ.เอฟ ดี กรีน ในเครือบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จ.กำแพงเพชร, สำนักงานสภาเกษตรกร จ.นครราชสีมา, บ.เอเซียโมดิไฟด์สตาร์ช จำกัด จ.กาฬสินธุ์ และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา หลังจากการจัดตั้งห้องปฏิบัติ การฯ ทีมวิจัยฯจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา คำแนะนำเชิงเทคนิคต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่รับถ่ายทอด สามารถนำเทคโนโลยีชุดตรวจไปใช้ในการตรวจสอบโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...

“ล่าสุดเราได้ถ่ายทอด เทคโนโลยีให้กับ บริษัทเอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ตรวจสอบในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และใกล้เคียง ก่อนขยายท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพ และปลอดโรคใบด่างกระจายท่อนพันธุ์สู่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปลูกและได้ผลผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงลดการสูญเสียผลผลิตหัวมันสดจากผลกระทบจากโรคใบด่างฯ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน”

รองผู้อำนวยการไบโอเทคเผยอีกว่า โดยบริษัทได้จัดตั้งห้องวิเคราะห์โรคใบด่างฯ ด้วยวิธี DAS-ELISA เริ่มรับตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังตั้งแต่ปี 2564 ได้ให้บริการตรวจสอบโรคใบด่างด้วยวิธี DAS-ELISA ทั้งภายในและภายนอกในปีที่ผ่านมามากกว่า 3,500 ตัวอย่าง ได้จัดตั้งโรงเรือนขยายพันธุ์สะอาดและมีคุณภาพ เพื่อกระจายให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจ จนปัจจุบันได้สนับสนุนท่อนพันธุ์และต้นพันธุ์มันสะอาดปราศจากโรคใบด่างฯแล้วกว่า 150,000 ต้น

นอกจากนี้ยังจัดทำแปลงทดลองภายในบริษัทฯ และจัดทำแปลงร่วมกับเกษตรกรเพื่อขยายต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าใจถึงการปลูกมันสำปะหลังอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยใช้ท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพ สะอาดปราศจากโรคใบด่างฯ และยังเป็นการเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์มันสะอาดปราศ จากโรคใบด่างฯที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย โดยตั้งเป้าจะทำแปลงร่วมกับเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชรในปีนี้ จำนวน 500 ไร่ และจำนวน 1,000 ไร่ ในปีถัดไป.