จะดีแค่ไหนถ้าประเทศไทยสามารถเปลี่ยน “รถโดยสารสาธารณะเก่า” เป็น “รถโดยสารไฟฟ้า” จากฝีมือคนไทยได้เองและในวันนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “4 ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า” หรือ “EV BUS” จากฝีมือคนไทย โดยดัดแปลงจากรถเมล์ ขสมก.ที่ใช้แล้ว 20 ปี และใช้วัสดุในประเทศถึง 60% ผลงานของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของ “ภาคขนส่งสาธารณะ” จากที่ผ่านมาคือ 1 ในปัจจัยการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับต้นๆ

นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจการผลิตรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศ ประมาณ 8,500 ล้านบาท และกระตุ้นให้เกิดการนำรถยนต์โดยสารสาธารณะไฟฟ้ามาใช้ในประเทศได้เร็วขึ้น

“ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษฝุ่น PM2.5 และมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นี่คือคำจำกัดความของยานยนต์ไฟฟ้า ที่ในช่วงระยะเวลา 2–3 ปีได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน และที่สำคัญที่สุดคือการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้บริการ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าลงทุนและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัทเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน”

...

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. กล่าวถึงที่มาของต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าท่ามกลางสถานการณ์น้ำมันที่นับวันจะแพงขึ้นและมีน้อยลงต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า ถูกพัฒนาขึ้นมา 4 รุ่น จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี และถูกแจ้งปลดระวางไปแล้ว ถูกนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ลดต้นทุนการนำเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ ด้วยมูลค่าสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนจากในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน

“สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมให้คำปรึกษา และแก้ปัญหาการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้า พัฒนาต้นแบบสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ออกแบบวิธีการประเมิน วิเคราะห์คุณลักษณะ ทดสอบประสิทธิภาพ สมรรถนะ รวมถึงพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขังร่วมกับ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี และรับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และได้ประเมินประสิทธิภาพการให้บริการ ความเหมาะสมผ่านการทดลองให้บริการบนเส้นทางให้บริการจริงของ ขสมก. เป็นระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนานา ชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก.” ดร.ณรงค์ กล่าว

สำหรับภาคเอกชนร่วมพัฒนารถโดยสารใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้า ก่อนส่งมอบให้กับหน่วยงานผู้สนับสนุน กฟน. กฟภ. กฟผ. และ ขสมก. นำไปใช้งานจริง ประกอบด้วย 1.บริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (CNC EV BUS) มุ่งเน้นการพัฒนาตัวถังจากวัสดุน้ำหนักเบา ด้วยตัวถังอะลูมิเนียม ลดน้ำหนักตัวถังเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ เพื่อส่งมอบให้กับ กฟน. 2.บริษัท พานทอง กลการ จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (PTM EV BUS) โดยมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนภายในประเทศเพื่อส่งมอบให้กับ กฟผ. 3.บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (EVT EV BUS) มีจุดเด่นที่ใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศโดยตรง ทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานและรับประกัน เพื่อส่งมอบให้กับ กฟภ. และ 4.บริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (SMT EV BUS) มีจุดเด่นในความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการออกแบบระบบขับเคลื่อน เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก.

โดย ขสมก. กฟผ. กฟน.และ กฟภ.ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาจะนำรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่นไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ ที่สำคัญการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆแบบจตุภาคีถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำตามแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใช้เองในประเทศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับคนไทย

...

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่จะมีรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ ที่ไม่ก่อมลพิษทั้งทางเสียง ทางอากาศ แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือความเสถียรของระบบและความต่อเนื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยฝีมือคนไทยที่ต้องทำด้วยความจริงจัง

เพราะนี่คือความท้าทายของประเทศไทยกับ “สิ่งใหม่” ในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่โลกกำลังเผชิญทั้งปัญหาก๊าซเรือนกระจก โลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ที่นับวันจะแปรปรวนขึ้นทุกที ขณะเดียวกันก็ช่วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศในสภาวการณ์ที่น้ำมันมีราคาแพงหูฉี่ขึ้นทุกวันถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูงและถ้าทำสำเร็จประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมยุคใหม่ทันที.

...

ทีมข่าววิทยาศาสตร์