ความสำเร็จในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งปี 64/65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศภัยแล้ง ด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือภัยแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้มีประสิทธิภาพ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มอบหมายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผน เก็บกักน้ำสำรอง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้า
สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 65 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งน้ำทั่วประเทศ (ณ 1 พ.ค.65) 46,660 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ในภาพรวมน้ำต้นทุนมากกว่าปี 64
ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ กอนช.จะดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝนคือ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายเดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ธ.ค.65 ที่มีข้อมูลระบุรายพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติในเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด รวมถึงการใช้แผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.) อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ นำไปวางแผนเก็บกักน้ำและระบายน้ำให้เกิดความสมดุล
และเพื่อให้การรับมือวิกฤติน้ำได้อย่างทันท่วงที ได้มีการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดย กอนช.ได้ Kick Off การฝึกซ้อมแผนไปแล้วที่สุราษฎร์ธานี และในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เตรียมลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผนฯ จ.อุบลราชธานี ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออก เฉียงเหนือ ครอบคลุมหลายจังหวัดของภาคอีสาน อาทิ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม ซึ่งมักประสบอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำหลากท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม
...
โดยการซ้อมแผนฯ กอนช.จะนำผลการจัดทำร่างผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้ประกอบการฝึกซ้อมด้วย เนื่องจาก “ผังน้ำ” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวางแผนและบริหารจัดการน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
สะ–เล–เต