เส้นทางสู่เศรษฐี “เด็กหนุ่มหัวใจแกร่งสู้ชีวิต” ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตาหอบความฝันหนีความจนเข้าสู่ “กรุงเทพฯ” ไขว่คว้าหาโอกาสทำมาหากิน “จับไม้เสียบไก่ย่างแดงขาย” สร้างรายได้หลักล้านบาทต่อปี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังอยู่ขณะนี้

เรื่องราวของเถ้าแก่ป้ายแดงนี้ “ทีมข่าวสกู๊ปหน้า 1” บังเอิญเดินผ่านเจอ “เอก ทองมาก อายุ 36 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด” ขี่รถ จยย.พ่วงสามล้อจอด “ขายไก่ย่างแดง” บริเวณริมฟุตปาทปากซอยวิภาวดีรังสิต 9 (เฉยพ่วง) เขตจตุจักร กทม. ชื่อร้านว่า “เอกชัย ไก่ย่าง” มีตั้งแต่ปีกไก่ ตับ กึ๋น ตูด หัวใจ และโครงไก่ราคาไม้ละ 10 บาท

ดูเผินๆเหมือนเป็นไก่ย่างข้างทางทั่วไป แต่เมื่อได้ลองชิมแล้ว “เนื้อไก่นุ่มรสชาติหอมเครื่องเทศ” เพิ่มความเผ็ดด้วยน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ดอร่อยต้องบอกต่อการันตีจาก “พนักงานออฟฟิศและประชาชน” ทั้งเป็นขาประจำและขาจรยืนรุมล้อมต่อแถวรอซื้อกันยาวเหยียดในระหว่างนี้ได้พูดคุยกับ “เอก ทองมาก” เจ้าของร้านฯ เล่าว่า

...

สมัยก่อนครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนาฐานะยากจนและต้องต่อสู้ชีวิตอย่างเด็กบ้านนอกปากกัดตีนถีบด้วยความลำบาก “ไม่มีความหวัง หรือความฝันเหมือนเด็กคนอื่น” ลูกๆทุกคนก็ต้องดิ้นรนช่วยตัวเอง

ชีวิตส่วนใหญ่ “หาอยู่หากินตามป่ากลางทุ่งนาแบบวิถีคนอีสาน” มีโอกาสเรียนหนังสือจบแค่การศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) เพราะด้วยครอบครัวชาวนายากจนไม่มีเงินส่งลูกเรียนต่อได้

...ได้แต่ปลอบใจตัวเองคิดเพียงว่า “ดวงวาสนามีแค่นั้น” ส่วนเพื่อนคนอื่นชาติก่อนอาจทำบุญมามาก ทำให้เกิดมาอยู่ในครอบครัวฐานะดี มีโอกาสได้เรียนหนังสือระดับสูงๆในมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่เมื่อเราเกิดมาแล้ว “ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด” ตัดสินใจหลีกหนีความจนมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หาโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

ด้วยยึด “อาชีพถีบรถสามล้อขายก๋วยเตี๋ยวบะหมี่เกี๊ยว” เรียกกันว่า “บะหมี่ป๊อกๆ” ที่ลวกเส้นทำกันแบบสดๆ มีตั้งแต่บะหมี่แห้งเกี๊ยวหมูแดง บะหมี่น้ำลูกชิ้นเป็นเส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นบะหมี่ขายชามละ 15-20 บาท นั่งกินกันตามข้างทาง แต่ว่าการขายก๋วยเตี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสบายตื่นแต่ตี 3 ออกไปตลาดซื้อของมาขาย

แล้วต้องตระเวนขายตลอดทั้งวันตามหมู่บ้าน หน้าช่อง 7 สถานีขนส่งหมอชิต 1 (หมอชิตเก่า) สวนจตุจักร จนกว่าก๋วยเตี๋ยวจะหมดค่อยกลับบ้านเช่าได้ และต้องจัดเก็บล้างสิ่งของไว้เตรียมขายวันถัดไป

เทคนิคการขายบะหมี่ป๊อกๆ นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว “คนขาย” มักรู้ว่า “บริษัทใดนิยมกินเวลาไหนก็ไปขายตามนั้น” เพราะแต่ละจุดมีเวลากินไม่ตรงกัน เช่นหน้าช่อง 7 จะออกมากัน 12.00 น. และค่อยออกไปขายภายในหมอชิตเก่ามักนิยมกินในช่วงบ่ายโมงแต่ไม่เกินบ่าย 2 ถ้าผ่านช่วงนี้จะเปลี่ยนเป็นอาหารหนักอย่างอื่น

ตลอด 8 ปีมานั้น “หักต้นทุนจะเหลือกำไร 1 พันกว่าบาททุกวัน” ก็ถือว่าเป็นกำไรค่อนข้างเยอะในสมัยนั้นเพราะจำนวนเงิน 1 พันบาทนี้สามารถซื้อทอง 1 สลึงได้อย่างสบายด้วยซ้ำ

“ตอนนั้นขายบะหมี่ป๊อกๆลำพังคนเดียวต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ไปตลาดซื้อของเตรียมออกขายเอง ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าไม่มีเวลาพักผ่อน แล้วคิดจะจ้างลูกมือมาช่วยพอหันมาคำนวณดูเงินผลกำไรก็ไม่คุ้มค่า อีกทั้งหมอชิต 1 ก็ย้ายออกไปอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร (หมอชิต 2) ส่งผลให้ทำเลที่เคยขายดีเปลี่ยนไปไม่มีคนซื้อแทน” เอก ว่า

...

สถานการณ์เลวร้ายลง “ลูกค้าขาประจำหายเกินครึ่ง” ต้องกลับมานั่งทบทวน เพราะถ้าดื้อดันฝืนขายต่ออาจไม่คุ้มค่าเสียเวลาเสียโอกาสค้าขายอย่างอื่น สุดท้ายตัดสินใจ “ยุติขายบะหมี่ป๊อกๆ” แล้วหันมาเอาดีธุรกิจใหม่ “จับไม้เสียบไก่ย่างขายไม้ละ 10 บาท” เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบกินไก่ย่างอยู่แล้ว

ในช่วงแรกๆ “ไม่รู้ชิ้นส่วนไก่จุดใดอร่อยขายได้ด้วยซ้ำ” แม้แต่ก่อไฟเตาถ่านย่างยังทำไม่ได้เลยจนต้องเริ่ม “ศึกษาสูตรเคล็ดลับวิธีหมักไก่ย่างแดงอร่อยๆ” แล้วทำรถพ่วงข้างออกทดลองตระเวนขายตามปากซอยเฉยพ่วง หน้ายูเนี่ยนมอลล์ เซ็นทรัลลาดพร้าว ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น.ทุกวัน

ลักษณะทดลองขายไปปรับสูตรหมักไก่ไปถ้าหากมี “ลูกค้าตำหนิ–ติชมตรงจุดใด” มักจะนำกลับมาคิดเป็นการบ้านปรับปรุงใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เป็นที่ถูกปากของคนนิยมชอบกินไก่ย่างแดงนั้น

...

สุดท้ายคิดดัดแปลง “สูตรหมักไก่ย่างแดงรสชาติเด็ดหอมหวานอร่อยได้สำเร็จ” ด้วยการหมักกับซอสหมักสีแดงใส่เครื่องเทศให้เข้าเนื้อไก่ที่จะทำให้มีรสชาติออกหวานนิดๆ รสนัวหน่อยๆ มีกลิ่นหอมเครื่องเทศรสชาติออกมากลมกล่อมพอดี แล้วขายไม่แพงราคาไม้ละ 10 บาท และข้าวเหนียวถุงละ 5 บาท

ไม่นานนัก “ลูกค้าติดใจชื่นชอบรสชาติมากขึ้นเรื่อยๆ” แล้วตอบรับอย่างล้นหลามแต่ละวันสามารถขายหมดเกลี้ยง 200-300 ไม้ ภายใน 3-4 ชั่วโมง แล้วเริ่มมีประสบการณ์เรียนรู้ได้ว่า “ลูกค้าชอบไก่ส่วนไหนที่อร่อย” ทั้งได้ศึกษาจุดทำเลทองของคนนิยมชอบซื้อไก่ย่างแดงนั้น ทำให้เห็นโอกาสตัดสินใจเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก

ปัจจุบันมีรถ จยย.พ่วงข้างเอกไก่ย่าง 5 สาขา ออกตั้งจุดขายประจำบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 9 หน้าห้างหน้ายูเนี่ยนมอลล์ เซ็นทรัลลาดพร้าว บิ๊กซีลาดพร้าว และปั๊มแก๊สซอยวิภาวดีรังสิต 15 โดยให้ญาติๆคนใกล้ชิดมาช่วยย่างไก่ขายแต่ละสาขามีค่าแรงวันละ 500 บาท

ในแต่ละวันใช้เนื้อไก่สดใหม่ขายวันต่อวัน 200-300 กก. การเลือกเนื้อไก่ก็ไม่ยุ่งยาก สามารถสั่งพ่อค้าขาประจำนำมาส่งให้ถึงที่บ้าน แล้วเริ่มนำไก่มาล้างทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม ในส่วนโครงไก่ย่างต้องสับทุบให้กระดูกแตก ก่อนนำหมักกับซอสหมักสีแดงใส่เครื่องเทศสูตรพิเศษทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง

ส่วนผสมสูตรหมักประกอบด้วย น้ำตาล พริกไทย รากผักชี ปรุงรสด้วยรสดี ซอสฝาเขียว ใส่เกลือนิดหน่อยผสมด้วย ทำให้รสชาติออกหวานๆ เค็มๆ และไก่กับเครื่องปรุงควรให้มีสัดส่วนเหมาะสมกัน

ถัดจากนั้นก็นำ “ไก่หมักมาเสียบใส่ไม้” ที่ใช้ความชำนาญหน่อย

...

เพราะต้องแบ่งไก่แต่ละไม้ให้ใกล้เคียงกันที่สุด แน่นอนอาจจะไม่เท่ากันทั้งหมดจนถึงเวลา 15.00 น. ก็นำกระจายออกไปขายตามสาขาสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 50,000 บาท ถ้าหักต้นทุน และค่าแรงจะเหลือกำไรอย่างน้อย 20,000 บาทต่อวันแน่ๆ

เพราะสมัยก่อน “ต้นทุนเนื้อไก่ไม่แพง” ถ้าจำไม่ผิดเนื้อไก่ 40–50 บาทต่อ กก. โครงไก่ราคา 15 บาทต่อ กก. ตับราคา 50 บาทต่อ กก. ทำให้เห็นเงินกำไรค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับขายบะหมี่ป๊อกๆ

จนกระทั่ง “โควิด–19 ระบาด” ในช่วงแรกๆห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าถูกสั่งปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว ตอนนั้น “ลูกค้าหายไป 90%” เมื่อสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น “รัฐบาล” มีมาตรการผ่อนคลายสั่งให้เปิดห้างฯ ศูนย์การค้า แล้วลูกค้าขาประจำเริ่มกลับมาซื้อไก่ย่างแดงเรื่อยๆ จนวันนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นราว 90% ด้วยซ้ำ

ปัญหามีอยู่ว่า “ราคาเนื้อไก่แพงขึ้นเท่าตัว” เช่นเนื้อไก่ขายส่ง 70 กว่าบาทต่อ กก. ตับไก่ 80 กว่าบาทต่อ กก. โครงไก่ราคา 30 บาทต่อ กก.แต่เรายังขายให้ลูกค้าได้ในราคาเท่าเดิม ทำให้ได้กำไรลดลงเหลือ 10,000 กว่าบาทต่อวัน แต่อย่างไรก็ดีหาก “เศรษฐกิจดีขึ้น” ลูกค้ามีกำลังซื้อกลับมาก็มีแผนจะเพิ่มสาขาที่ 6 อีกเร็วๆนี้ด้วย

ทว่าในส่วน “หลักการตลาด” ใช้กลยุทธ์การขายแบบคนรุ่นเก่า เน้นใช้ฝีมือความอร่อยเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจใน “รสชาติความอร่อยจริงๆ” แล้วเขาจะเป็นผู้สื่อสารบอกต่อกันเอง ที่เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นตัวการันตีว่า “ลูกค้าจะคงอยู่กับเราตลอดไป” เพราะแม้ใช้โซเชียลฯโปรโมตแต่รสชาติไม่อร่อยลูกค้าก็หนีหายเช่นเดิม

ทิ้งท้ายไว้ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้” แต่สามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ว่า “จะเดินไปในเส้นทางไหน” แล้วลงมือทำไม่ว่าอาชีพสุจริตใดก็ดีหมด “อย่ามองข้ามอาชีพรายได้เงินน้อย” เพราะถ้าเราเข้าใจเก็บออมสะสมทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆเป็นค่อยๆไปก็จะกลายเป็นเงินก้อนโตได้ด้วยเช่นกัน

สิ่งสำคัญอย่ามัวแต่นำตัวเองไปเปรียบกับคนอื่น “คนเราเกิดมาแตกต่างกัน” ถ้ามัวแต่เอาชีวิตไปผูกกับโชคชะตาคนอื่น “คงไม่มีประโยชน์” แต่สู้หันมามองสิ่งที่เป็นอยู่แล้ววางแผนพัฒนาต่อยอดทำมาหากินจะดีกว่า และฝากไว้ใครผ่านเจอ “เอกชัย ไก่ย่าง” ลองอุดหนุนชิมกันดูเพื่อเป็นกำลังใจให้คนสู้ชีวิต.