เหตุสะเทือนใจ “คดีข่มขืนละเมิดทางเพศ” กลายเป็นปัญหาเรื้อรังวนเวียนหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยช้านาน “มีผู้ตกเป็นเหยื่อแทบทุกวัน” ทั้งเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว นับวันยิ่งเกิดปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยผลกระทบจาก “การถูกล่วงละเมิดทางเพศ” ไม่เพียงสร้างบาดแผลความบอบช้ำเสียหายทางสภาพจิตใจเท่านั้น “แต่ยังตอกย้ำความไม่เท่าเทียม” อันมีแก่เหยื่อบางคนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จนไม่อาจได้รับการดูแลเยียวยาร่างกายและจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้
เหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ : ปกป้อง คุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร?” มีนักวิชาการ ผู้ทำงานคุ้มครองสิทธิทางเพศ และตัวแทนภาครัฐเข้ามาร่วมเสวนาครั้งนี้
เพื่อสร้างความเข้าใจในการช่วยเหลือเหยื่อ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล บอกว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิงในสังคมไทยอันมีหลายรูปแบบ เช่น “ความรุนแรงที่สังคมพอยอมรับได้” มีตั้งแต่คุกคามทางเพศแบบไม่สัมผัสที่เรียกว่า “อนาจาร” ตามกฎหมายไทย
...
การละเมิดแบบสัมผัสแต่ไม่มีการสอดใส่ พยายามข่มขืน และการข่มขืนบังคับร่วมเพศโดยผู้หญิง 99% ไม่มีความยินยอมพร้อมใจ แต่ด้วย “สังคมไทยมักมีระบบอุปถัมภ์” ทำให้พร้อมที่กดขี่ขืนใจผู้อื่นอยู่เสมอ
ต่อมา “ความรุนแรงทางเพศที่สังคมยอมรับ” เช่น กรณีสามีบังคับขืนใจภรรยา แม้มีกฎหมายว่าเป็นความผิดแล้ว “แต่บทลงโทษก็ยังน้อยกว่าชายข่มขืนหญิงอื่น” ทั้งยังมีกรณีเด็กผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วฝ่ายชายยอมแต่งงานด้วย “เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี” อันเป็นข้อกฎหมายอนุโลมให้ทำได้
ทั้งยังมี “การข่มขืนหญิงขายบริการ” อันมีปัจจัยในความเชื่อที่ว่า “เมื่อเขาขายบริการจะทำการข่มขืนอย่างไรก็ได้” แต่ความจริงแล้ว “ไม่ควรมีหญิงใดหรือบุคคลในสถานะใด” ต้องมาถูกบังคับข่มขืนใจได้เด็ดขาด ถัดมาคือ “ความรุนแรงสังคมยอมรับได้น้อย” ลักษณะการลวนลามโดยนายจ้างหรือผู้มีอำนาจมากกว่า
สุดท้ายคือ “ความรุนแรงสังคมรับไม่ได้” ก็พวกข่มขืนคนในสายเลือด หรือข่มขืนเด็กต่ำกว่า 15 ปี
สรุปว่า “ผู้กระทำมักเป็นผู้ชายอายุน้อยสุด 7 ขวบ อายุสูงสุด 82 ปี” มีอยู่ทุกอาชีพทุกระดับการศึกษา “อย่าคิดว่าผู้เรียนสูงมีงานดีไม่ล่วงละเมิดคนอื่น” ยิ่งกว่านั้นเมื่อทำผิดมักลอยนวลไม่ถูกดำเนินคดี “ไม่ใช่มีเฉพาะในไทย” หลายประเทศก็เกิดขึ้นเหมือนกัน เช่น “สหรัฐฯ” ผู้กระทำถูกลงโทษน้อยกว่าคดีที่เคยเกิดด้วยซ้ำ
ตามการเก็บตัวอย่าง “ผู้ต้องหาในเรือนจำ 444 ราย” มักเป็นชายโสดมีฐานะเศรษฐกิจและสังคมต่ำอันมีแรงจูงใจก่อเหตุจาก “ค่านิยมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่” แล้วใช้อำนาจแห่งความเป็นชายทำละเมิดผู้หญิงอื่น
ย้อนมาดู “ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นผู้หญิงอายุต่ำสุด 13 เดือน และอายุมากสุด 105 ปี ในจำนวนนี้ก็มีเด็กผู้ชายถูกละเมิด 5% รูปแบบมีทั้งถูกข่มขืนรุมโทรม 22% ผู้ร่วมรุมโทรมครั้งเดียวกันสูงสุด 30 คน
เรื่องที่น่าสนใจคือ “กรณีเด็กต่ำกว่า 18 ปี” ปรากฏตัวเลขถูกข่มขืนแล้วฆ่า 32% ผู้ข่มขืนอยู่ในสายเลือดเดียวกัน 89% การถูกข่มขืนต่อเนื่องซ้ำซาก 93% และยังมีข้อมูลศูนย์พึ่งได้ตั้งแต่ปี 2547-2563 ตอกย้ำตัวเลข 2 ใน 3 เป็นเด็กถูกกระทำมารับบริการ ฉะนั้น ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กผู้หญิงไทยกำลังเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง
ถ้าพูดแง่ “คดีข่มขืนในไทย” ตามที่เก็บข้อมูลสถิติ สตช.ตั้งแต่ปี 2540-2562 ทั้งการรับแจ้ง-จับดำเนินคดีเฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 ราย ในปี 2559 มียอดสูงสุด 6,000 ราย สิ่งที่น่าสังเกตจำนวนแจ้งความดำเนินคดีกลับลดต่ำลงเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับตัวเลขการจับกุมกลับสูงขึ้นทุกปี ทำให้มองตัวเลขปรากฏไม่ตรงความจริงหรือไม่
เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น “พบจุดบกพร่องด้านข้อมูลตัวเลขคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ปรากฏสู่สาธารณชนอยู่ขณะนี้” ฉะนั้น เรื่องสถิติคดีนี้ สตช.ต้องรื้อระบบเพื่อสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
...
ประการต่อมา “หญิงไทยมีเซ็กซ์ครั้งแรกมักไม่ยินยอมพร้อมใจ” ในจำนวนนี้ปรากฏเด็กอายุ 10-14 ปี มีเซ็กซ์ครั้งแรกไม่ยินยอม 46% ส่วนใหญ่ไม่สวมถุงยางอนามัย มีโอกาสท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาหลายเรื่อง
หนำซ้ำ “หญิงมีคู่รักหรือเคยมีคู่รัก” ก็เคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ 29% ตั้งแต่ถูกบังคับมีเซ็กซ์ที่ไม่ต้องการ 6% จำยอมร่วมเซ็กซ์โดยไม่ต้องการเพราะกลัว 20% และถูกบังคับมีเซ็กซ์น่ารังเกียจผิดธรรมชาติ 3%
เลวร้ายกว่านั้น “ระบบความช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำอ่อนแอมาก” ในหลายกรณีการช่วยเหลือเป็นการกระทำความรุนแรงซ้ำ เพราะความไม่เป็นมืออาชีพ หรือบางกรณีมีเจตนากระทำซ้ำเพื่อปิดปาก เนื่องจากผลกระทบของผู้ถูกกระทำนั้นมักรู้สึกผิด เป็นบาป รู้สึกขายหน้า อันนำมาสู่การปิดปากตัวเองตามมานั้น
“อยากชี้ให้เห็นเส้นทางความรุนแรงเลวร้ายที่สุด คือความรุนแรงทางวัฒนธรรมถูกฝังลงใต้จิตสำนึก หยั่งรากลงระบบความคิด ความเชื่อของคน ส่งผ่านเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาถูกตราเป็นลายลักษณ์อักษรทางกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติทำให้มีการสร้างความรุนแรงจนกว่าสิ่งนั้นจะถูกทำลาย” รศ.ดร.กฤตยา ว่า
...
ดังนั้น กลไกหล่อเลี้ยงความรุนแรงทางเพศคือ “วัฒนธรรม” ได้แก่ วัฒนธรรมความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ แล้วความรุนแรงทางเพศมักสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เท่ากัน เพราะทัศนคติของผู้ชายเชื่อแบบผิดๆว่า “เป็นเพศที่มีอำนาจเหนือกว่า” สามารถใช้อำนาจนั้นกับผู้หญิงโดยเฉพาะในทางเพศได้
ถัดมา “วัฒนธรรมการตีตราผู้เสียหาย” อันมีความคิดว่า “ผู้เสียหายมีส่วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น” อยากเล่าเรื่องจริงให้ฟังกรณี “คุณแก้วถูกข่มขืนบนรถไฟ” ออกมาต่อสู้คดีจนบริษัทให้ออกจากงาน แม้แต่ญาติก็กล่าวหาทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลต้องเปลี่ยนชื่อนามสกุล นี่เป็นสิ่งที่สังคมกระทำต่อคนออกมาสู้เรียกร้องสิทธิตัวเอง
ตอกย้ำด้วย “วัฒนธรรมเงียบ” เชื่อว่าคนไทยไม่มากก็น้อยอยู่ในวัฒนธรรมนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กล่าวคือ “การปกปิดนิ่งเฉยกับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น” กลายเป็นปิดโอกาสการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ แล้วส่งผลทำให้เหยื่อไม่กล้าออกมาต่อสู้ต้องปิดปากเงียบ สุดท้ายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดย่ามใจทำซ้ำไปเรื่อยๆ
ยิ่งกว่านั้น “หากเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” มักทำให้ผู้เสียหายเลือกที่จะเงียบ หรือจำยอมอยู่ในสถานการณ์ยอมจำนนถูกละเมิดทางเพศต่อไปอีก สิ่งสำคัญ “การข่มขืนในเชิงอำนาจ” ส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยบาดแผลถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น ทำให้เวลาต่อสู้คดีในชั้นศาลมักมีคำถามเป็นการยินยอมพร้อมใจหรือไม่
ข้อเสนอสังคมต้องเข้าใจรากเหง้าความรุนแรงทางเพศ คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่เป็นแค่การกระทำระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แล้วต้องสอนผู้ชายเคารพไม่ละเมิดเนื้อตัวผู้หญิงด้วย
...
สิ่งสำคัญคือ “การมีเพศสัมพันธ์ต้องตั้งอยู่บนความยินยอมสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย” โดยอีกฝ่ายสามารถบอกเลิกกิจกรรมตอนไหนก็ได้ เช่น กำลังร่วมเซ็กซ์ใกล้เสร็จอีกฝ่ายผลักออก แสดงว่าเขาไม่ต้องการมีต่อ! แล้วการยินยอมในครั้งหนึ่งก็มิใช่ว่าเป็นการยินยอมตลอดไป เพราะความยินยอมในแต่ละครั้งเป็นเรื่องเฉพาะเวลานั้น
ท้ายสุดเสนอ “เชิงนโยบาย” คือ 1.พัฒนาคู่มือเรียนรู้แก้ปัญหาผู้ถูกกระทำให้ผู้คนได้เข้าถึงได้หลายช่องทาง 2.พัฒนาสื่อเรียนรู้เรื่อง sexual consent แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของ พม. 3.การพัฒนาระบบทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกล่วงละเมิดทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนสถานที่รองรับการเยียวยาฟื้นฟู
4.สนับสนุนให้องค์กรรัฐและองค์กรอิสระ มีนโยบายป้องกันความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน (open door policy) โดยเฉพาะสถานศึกษาทุกแห่ง 5.ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม ทนาย ตำรวจ อัยการ ศาล ในคดีกับเพศทุกด้าน ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำซ้อน ที่อาจเปิดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่ม
เพื่อกระบวนการที่คุ้มครองผู้หญิง ให้โอกาสผู้ชายเป็นธรรม และเยียวยาคนเจ็บปวด เพื่อความกล้าหาญของผู้หญิงจำนวนหนึ่งลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางเพศ จะไม่สูญเปล่าและผ่านเลยไปอีกครั้งหนึ่ง...
ย้ำว่า “กระบวนการยุติธรรม” ต้องไม่เอื้อผู้กระทำผิดแต่ควรคุ้มครอง “ผู้ตกเป็นเหยื่อ” แล้วการมีเพศสัมพันธ์ต้องอยู่บนพื้นฐานความยินยอมพร้อมใจ...อีกฝ่ายบอกเลิกหยุดกิจกรรมเซ็กซ์เมื่อใดก็ได้.