น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า ปัจจุบันมันสำปะหลังอินทรีย์ วัตถุดิบนำมาผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์และฟลาวมันสำปะหลัง ถือเป็นอาหารแห่งอนาคตในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังที่ผลิตในระบบอินทรีย์มีกลูเตนฟรีจึงเหมาะกับผู้ที่มีภาวะอาการแพ้กลูเตน ด้วยมีเส้นใยสูง มีดัชนีน้ำตาลปานกลาง-ต่ำ สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารได้หลากหลาย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอเมริกาและยุโรปอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ สวทช.จึงได้ร่วมกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE บูรณาการความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรภาครัฐและเอกชนใน “อุบลโมเดล” ภายใต้ “โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์พื้นที่ จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษและอำนาจเจริญ” หรือ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรม” เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และร่วมดำเนินงานเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตส่งเสริมและสนับสนุน ให้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโน โลยี และนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชนและพัฒนาเกษตรกร สร้างคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพ สนองนโยบาย โมเดลเศรษฐกิจ BCG
...
รองผู้อำนวยการ สวทช.เผยอีกว่า หลังการดำเนินงานร่วมกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต.กู่จ่าน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงตามที่บริษัทรับซื้อ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัต กรรม ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 3.6 ตัน จากเดิมไร่ละ 3.3 ตัน ถึงแม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง บวกกับราคาขายที่สูงขึ้น ทำให้ได้กำไรมากยิ่งขึ้น สวทช.จึงต้องการขยาย พื้นที่มันสำปะหลังอินทรีย์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นเกิดความยั่งยืนในอาชีพ และยกระดับความ เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ฉะนั้น การร่วมมือกันในครั้งนี้จะยิ่งหนุนเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพ อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการของบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลังและเกษตรอินทรีย์ให้กับประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช.และเครือข่ายพันธมิตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่ ชีวภัณฑ์ป้องกัน/กำจัดแมลงศัตรูพืช (บิวเวอเรีย-เมตาไรเซียม) ชุดตรวจ Strip Test สำหรับตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้ทันท่วงทีหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโน โลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และชุดตรวจวิเคราะห์ดิน Smart NPK ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้.