• จับตาสัปดาห์หน้า คาดอาจพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย หลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมงานไพรด์พาเหรด ที่ กทม. ด้านทีมจัดงานโต้ สธ.ให้ข่าวไม่เคลียร์ ยันมีมาตรการดูแลเข้ม
  • หมอหวัง "นักท่องเที่ยว-คนไทย" มีความรู้ แนะเป็นไข้รีบกักตัวหลังจากกรมควบคุมโรค ประเมินอาจจะเกิดการระบาดขึ้น หลังงาน "ไพรด์พาเหรด"
  • หมอยันไม่ได้ติดง่ายแบบโควิดฯ การกระจายโรคส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงจำกัด เผยรายงานล่าสุดผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" มีอาการแตกต่างจากเดิม ชี้มักพบตุ่มในร่มผ้าก่อนลามมาส่วนนอกของร่างกาย ย้ำต้องเฝ้าระวัง

สถานการณ์โควิดฯ ในไทย ภาพรวมดีเกินคาด ทุกจังหวัดยอดติดเชื้อต่ำร้อย ยกเว้น กทม.ที่ยังพุ่งเกินหลักพันล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศบค.คลายล็อกมาตรการป้องกันในพื้นที่โซนเขียว-ฟ้า เพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ทำให้ทุกภาคส่วนต่างเฮรับถ้วนหน้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ ครึกครื้น อาบ อบ นวด คึกคัก กลับมามีชีวิตชีวากันอีกครั้ง ภายใต้การเข้มทำตามมาตรการโควิด Free Setting ของ สธ. ส่วนการระบาดของ "โรคฝีดาษลิง" หมอยืนยันติดไม่ง่ายเหมือนโควิดฯ การกระจายโรคส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงจำกัด แต่อาการแยกยากจาก "เริม-อีสุกอีใส" อาจติดเชื้อพร้อมกันได้อีก อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดความยุ่งยากในการควบคุม จนอาจนำไปสู่โรคประจำถิ่นในที่สุด นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะมีงานใหญ่จัดขึ้นใน กทม. ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก และคาดว่าสัปดาห์หน้าอาจจะพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" ในไทย!!! 

...

จับตางาน "ไพรด์พาเหรด" เฝ้าระวังนักท่องเที่ยวประเทศเสี่ยง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ความรุนแรงไม่ได้มากหายเองได้เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังโรงพยาบาล และคลินิกเฉพาะทางต่างๆ แล้วว่า หากพบผู้ป่วยที่เข้านิยามให้ส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลาง แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เข้านิยาม เช่น ไม่มีตุ่ม และไม่ออกผื่น

"สัปดาห์นี้ประเทศไทยจะมีงาน "ไพรด์พาเหรด" จำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อในประเทศแล้ว ที่ตอนนี้มี 5 ประเทศจากเดิม 3 ประเทศ คือ แอฟริกา อังกฤษ โปรตุเกส สเปน และ แคนาดา รวมทั้งต้องจับตาเยอรมนีเพิ่มเติม แต่ละวันมีผู้เดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน คาดว่าสัปดาห์หน้าอาจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทยได้  เพราะงานไพรด์พาเหรดที่กรุงเทพฯ อาจมีผู้มาจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน และอาจพบผู้ป่วยเข้ามาได้"

ย้ำเข้มมาตรการ UP ลดความเสี่ยง กังวลเที่ยวต่อหลังจบงาน เสี่ยงสัมผัส-อาจติดเชื้อ

ส่วนมาตรการที่ต้องเตรียมเฝ้าระวังในงานไพรด์พาเหรด นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้จัดงานยังไม่ได้ประสานข้อมูลมา แต่กระทรวงวางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย แต่ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ส่วนการเฝ้าระวังป้องกันตนเองของผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรด หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกต เป็นความเสี่ยงหากพบผู้ที่มีอาการผื่นขอให้พามาตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตามช่วงงานไพรด์พาเหรด แม้คนที่ร่วมงานยังไม่มีผื่น แต่ถ้าจะให้ดียังคงต้องทำ UP เว้นระยะห่างจากคนให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง มีความกังวลว่าหลังจบงานแล้วจะมีการเที่ยวกันต่อหลายวัน มีการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ อาจติดเชื้อได้

ทีมจัดงานฯ โต้ สธ.ให้ข่าวไม่เคลียร์ ยันมีมาตรการคุมเข้ม

...

ขณะที่ น.ส.มิณราญาพร สำนองคำ ตัวแทนผู้จัดงาน "นฤมิตไพรด์" เปิดเผยว่า งานนี้มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างรัดกุม เพราะเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน มีการประสานกับตำรวจและสำนักงานเขตพื้นที่ ทั้งได้รับความร่วมมือจาก รพ.บำรุงราษฎร์ กลุ่มเส้นด้าย ทีมแพทย์อาสา ที่จะมาร่วมดูแลด้านสาธารณสุขของขบวนพาเหรด ที่ต้องมีการเว้นระยะห่าง ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ ที่สำคัญมีการสังเกตอาการของผู้มาร่วม หากใครเป็นผื่นคันแดงจะคัดออกทันที เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เฉพาะทีมที่ดูแลด้านสาธารณสุขมีเกือบ 200 คน นอกจากนี้ ยังได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ข้อมูลว่ากระทรวงสาธารณสุขแถลงเรื่องนี้ไม่เคลียร์ บุคคลที่ติดเชื้อและเคยไปงานไพรด์ในต่างประเทศแค่ผ่านไทย ไม่ได้เข้ามาในไทยแค่รอต่อเครื่องไปที่อื่น ดังนั้น ยังไม่มีการพบโรคนี้ในไทยตามที่เป็นข่าว

อัดด้อยค่าพุ่งเป้า "งานไพรด์" ชี้ "สถานบริการ" เสี่ยงกว่ากลับไม่พูดถึง

ตัวแทนผู้จัดงาน กล่าวอีกว่า การให้ข่าวเช่นนี้เป็นการด้อยค่าความหลากหลายทางเพศ ดิสเครดิตขบวน และโยงการเมือง โดยเฉพาะที่บอกว่าโรคนี้ติดกันมากในผู้ที่เป็นเกย์ เป็นการด้อยค่าที่ย้อนแย้งเพราะก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม วันนี้มาพุ่งเป้างานไพรด์แต่สถานที่ที่เสี่ยงกว่านี้อย่างสถานบริการกลับไม่พูดถึง งานนี้มีผู้แสดงความจำนงจะมาร่วมมากเกินกว่าที่คิด จากเดิมคาดมีราวพันคน แต่กระแสตอบรับแรงมากโดยเฉพาะกลุ่มนักแสดงรุ่นใหม่ นางงาม มั่นใจเป็นขบวนพาเหรดไพรด์ที่ใหญ่ และมีคนร่วมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าจะไม่มีเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ มาเกี่ยว งานครั้งนี้มีข้อเรียกร้องเรื่องกฎหมายการสมรสเท่าเทียม รัฐสวัสดิการที่จะมอบให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กฎหมายรับรองเพศ สถานศึกษาที่ปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยของผู้ต้องขัง การยุติความรุนแรงทางเพศ ฯลฯ การเดินพาเหรดจะแบ่งกิจกรรมเป็น 3 ช่วงตามข้อเรียกร้อง มีขบวนรถแห่จากต่างจังหวัดมาร่วมสมทบบริเวณพัฒน์พงศ์ และมีไฮไลต์ของการจัดงานที่ขออุบไว้ก่อน แต่มั่นใจคนล้นสีลมแน่

...

ไทยเลี่ยงไม่พ้นที่จะเจอ "ฝีดาษลิง" เพราะเปิดประเทศ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความเป็นไปได้ของการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยว่า คิดว่ายังไงคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราเปิดประเทศอยู่แล้ว ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการกระจายแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ประเทศอังกฤษได้สรุปมาแล้วว่า คนที่มีประวัติเดินทางมานั้นน้อยมากที่ติดเชื้อ เพราะส่วนมากเป็นการแพร่ระบาดกันในชุมชนเสียมากกว่า อาจจะไม่ได้เกิดจากการไปร่วมงานเทศกาลต่างๆ ก็ได้ อาจจะมีบางส่วนเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน หวังว่าคนที่จะเข้ามาคงมีความรู้

ชี้เชื้อจะเริ่มแพร่ตอนมีไข้ ถ้าไม่สบายรีบกักตัว-แนะวิธีดูผื่น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า คนไทยเองควรจะมีความรู้พอสมควร เนื่องจากจะมีการรวมตัวกันในเทศกาล งานต่างๆ ที่จะจัดขึ้น ตรงนี้มันยากพอสมควร เพราะเชื้อมันจะเริ่มแพร่ตอนที่มีไข้ ไม่สบาย แต่ก่อนหน้าจะไม่เหมือนโควิด-19 ที่แพร่ระบาดได้เลยแม้ยังไม่มีอาการ แต่ในฝีดาษลิงไวรัสที่จะปล่อยออกมาจะออกมาตอนที่มีไข้แล้ว ตรงนี้อาจจะเป็นข้อดีที่อย่างน้อยคนที่มีไข้ก็จะได้รู้ตัวเอง แยกตัวเองออกทันที อย่างน้อยที่สุด คือ สวมหน้ากากอนามัย ไม่อยู่ใกล้ผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ บางทีการรอให้มีตุ่มเกิดขึ้นนั้น อาจจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีตอนที่มีไข้แล้ว อาจจะเกิดขึ้นตอนหลังก็ได้ ต่อมน้ำเหลืองโตก็เช่นกัน แต่ตอนที่มีไข้ค่อนข้างเป็นไข้ที่ไม่ธรรมดา เป็นไข้สูงพอสมควร มีปวดเมื่อย ปวดหลังร่วมด้วย ส่วนผื่นจะดูยาก มี 2 ระดับด้วยกัน อาจจะเป็นผื่นและตุ่มน้ำขึ้นมา กลายเป็นตุ่มหนอง และมีตุ่มอยู่หลายชนิด กรณีเม็ดเล็กๆ อาจจะไม่ได้เข้าข่ายต้องสงสัย อาจจะไปเกิดขึ้นในร่มผ้าหรือในที่ลับโดยที่ตัวเองไม่ได้สังเกต

...

เผยเกิดตุ่มในร่มผ้า-คัดกรองยาก แนะทุกสถานที่ควรตรวจวัดอุณหภูมิ-อย่าเลิกทำ

ส่วนกรณีเกิดตุ่มในร่มผ้า จะสามารถคัดกรองคนก่อนเข้าสถานที่หรืองานเทศกาลต่างๆ ได้อย่างไรนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อันนี้ยาก ใครที่จะต้องเข้าเทศกาลหรือตามร้านอาหารต่างๆ ขณะนี้ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิกันแล้ว จริงๆ อยากให้มีการตรวจอุณหภูมิทุกที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะมีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก ตอนนี้ไทยอนุญาตให้เปิดบริการอาบ อบ นวด และซาวน่าได้แล้ว ฝีดาษลิงไม่จำเป็นต้องเป็นเพศเดียวกันที่จะติด ต่างเพศกันก็ติดได้เหมือนกัน

"ลิง" ไม่ใช่พาหะเพียงหนึ่งเดียว แต่พบได้ในสัตว์ประเภท game

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า อัปเดตโรคฝีดาษลิง สรุปจากที่ WHO Monkeypox Webinar เมื่อคืนวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า

  • 1.ไม่ได้มีพาหะในลิงเท่านั้น แต่พบในสัตว์ประเภท game หนู กระรอก (squirrels) การใช้ชื่อ Monkeypox อาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีแต่ในลิง
  • 2.ประสบการณ์จากแอฟริกาพบว่า ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมักติดโรคจากการไปล่าสัตว์หรือหามาเป็นอาหาร แพร่จากคนสู่คนหลากหลายทาง ทั้งการใกล้ชิด สัมผัสทางกาย น้ำลาย ที่สำคัญคือสามารถแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านทารกได้ด้วย ทำให้เด็กเกิด Congenital monkey pox นอกจากนี้เด็กแรกเกิดยังติดจากแม่ได้หากมีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างคลอดและหลังคลอด
  • 3.การติดเชื้อในครอบครัวนั้นมีโอกาสราว 10-15%
  • 4.ความรุนแรงจำแนกตามจำนวนตุ่ม/ผื่นที่เกิดขึ้น สมรรถภาพร่างกายในการดำรงชีวิตประจำวัน การต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาล
  • 5.จนถึง 1 มิ.ย. 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรายงานยืนยันแล้ว 643 ราย จาก 26 ประเทศ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง จะช่วยป้องกันได้ทั้งโควิดฯ และฝีดาษลิง

ยอมรับอาการ "ฝีดาษลิง-เริม-อีสุกอีใส" แยกยาก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงความแตกต่างระหว่าง "โรคฝีดาษลิง" และ "เริม" ว่า ลักษณะ ผื่น ตุ่ม ที่ผิวหนังจากการเกิดโรคบางครั้งแยกยาก ที่แยกยากสุดคือ อีสุกอีใส อีกทั้งบางประเทศในแอฟริกาพบว่า คนในพื้นที่มีการติดเชื้อสองตัวพร้อมกันคือทั้ง อีสุกอีใส และ ฝีดาษลิง พบประมาณร้อยละ 12.5 ดังนั้น อีสุกอีใสแยกยาก มิหนำซ้ำอาจจะเกิดพร้อมกับฝีดาษลิงได้ สำหรับประเทศไทยโอกาสที่จะเป็นอีสุกอีใสอาจจะน้อย เพราะเด็กได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว แต่ผู้สูงอายุที่เคยเป็นอีสุกอีใสตั้งแต่เด็กนั้น เมื่อภูมิคุ้มกันลดลงภาวะอีสุกอีใสก็จะออกมาจนกลายเป็นงูสวัด หากออกมาแล้วปะทุบางตำแหน่ง บางที่อาจทำให้ดูยากและอาจเกิดความกังวลว่าเป็นฝีดาษลิง โดยเฉพาะงูสวัดที่แพร่ไปทั้งตัว ซึ่งเกิดได้ในคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้สับสนว่าเป็นฝีดาษลิงไปด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเริมอยู่ในตระกูลเดียวกับงูสวัดและอีสุกอีใส ลักษณะของเริมส่วนมากจะกระจุกอยู่เฉพาะที่ที่บริเวณริมฝีปาก อยู่ภายในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม รวมถึงบริเวณอวัยวะเพศลงไปถึงก้น ดังนั้นจึงอาจเป็นที่กังวล เพราะจากสถานการณ์ฝีดาษลิงที่มีรายงานพบว่า คนที่ติดฝีดาษลิงบางรายไปมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งบังเอิญตุ่มหนองยังไม่ได้โผล่บริเวณอวัยวะภายนอกที่หน้า ลำตัว แขน แต่เกิดที่อวัยวะเพศจึงไม่รู้ตัวจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดการติดเชื้อและแพร่ได้ ดังนั้น เริมมักชอบขึ้นที่อวัยวะเพศจึงเป็นที่กังวลว่าจะเป็นฝีดาษลิงหรือไม่ ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าจริงๆ เป็นฝีดาษลิงหรือเริม อย่างไรก็ตามการสงสัยไว้ก่อนเพื่อกันพลาดเป็นสิ่งที่ดี

ยันไม่ติดง่ายเหมือนโควิดฯ การกระจายโรคยังอยู่ในวงจำกัด

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กถึงฝีดาษวานรว่า การระบาดของโรคนี้นอกทวีปแอฟริกา แต่เดิมเกิดจากการติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงตระกูลหนูที่เป็นพาหะไวรัสนี้อยู่ เช่น หนูยักษ์แกมเบีย แพรี่ด็อก การระบาดครั้งนี้ไม่มีหลักฐานการติดเชื้อจากสัตว์ แต่เป็นการติดระหว่างสัมผัสกับผู้ป่วย การติดต่อจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่ายแบบโควิด-19 การกระจายโรคยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงจำกัด โรคนี้มีวัคซีนในการป้องกันการปลูกฝีในอดีตสามารถป้องกันโรคนี้ได้ ผู้ที่เคยปลูกฝีแล้ว ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อ ตุ่มที่เกิดขึ้นจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เคยปลูกฝีมาก่อน ปัจจุบันยังมีวัคซีนที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง อเมริกาชื่อการค้าว่า JYNNEOS (IMVANEX) ในยุโรป (IMVAMUNE) โดยใช้ไวรัสในกลุ่มฝีดาษคือไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ และไม่สามารถก่อโรคได้ มาใช้ฉีดในการป้องกัน และเป็นประโยชน์ในผู้ที่สัมผัสโรคมาไม่เกิน 4 วัน ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนกับคนทั่วไป จะให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสโรคเท่านั้น

เผยรายงานล่าสุดผู้ป่วย มีอาการแตกต่างจากเดิม

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ก็โพสต์เฟซบุ๊กว่า บทความสั้นๆ เกี่ยวกับ Monkey pox ในวารสาร JAMA วารสารสมาคมการแพทย์ อเมริกัน ตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.นี้ มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิงในการระบาดปัจจุบันอาจมีอาการแตกต่างไปจากผู้ป่วยฝีดาษลิงที่เคยพบก่อนหน้านี้ ปกติอาการฝีดาษลิงมักจะเริ่มต้น ด้วยอาการไข้ หนาวสั่น ต่อมน้ำเหลืองโต ก่อนที่จะมีผื่น และตุ่มหนองขึ้นที่ผิวหนัง แต่ที่พบในผู้ป่วยบางรายในตอนนี้ ไม่มีอาการอะไรนำมาก่อนที่จะมีอาการขึ้นที่ผิวหนัง คือ ถ้าไม่มีผื่นหรือตุ่มขึ้นก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดฝีดาษลิง

มักพบตุ่มในร่มผ้าก่อนลามมาส่วนนอกร่างกาย เตือนต้องระวัง เข้าห้องน้ำก็อาจติดเชื้อได้

ดร.อนันต์ ระบุอีกว่า อีกข้อสังเกตหนึ่ง คือ ปกติตุ่มหนองของฝีดาษลิงนั้น จะพบที่ศีรษะหรือใบหน้าก่อนลามลงมาที่แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แต่เคสที่พบในปัจจุบันดูเหมือนจะแตกต่าง พบตุ่มหนองที่บริเวณใต้ร่มผ้า ก่อนจะลามออกมาให้เห็นที่บริเวณส่วนนอกของร่างกาย อาจจะทำให้สังเกตเห็นได้ยากกว่ากรณีปกติ นอกจากนี้ รายงานผลการตรวจหาเชื้อในตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยฝีดาษลิง ที่เคยพบในอังกฤษตั้งแต่ปี 2018-2021 แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างที่ระบาดในปัจจุบัน พบว่าสามารถพบไวรัสได้ในหลายตัวอย่าง มากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ปริมาณไวรัสที่พบได้มากที่สุด คือ ของเหลวจากตุ่มหนอง หรือแผลบนผิวหนัง ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยแทบทุกคนสามารถตรวจไวรัสพบในตัวอย่าง ที่เก็บมาจากทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งประกอบด้วยน้ำมูก น้ำลาย โดยปริมาณไวรัสมีมากกว่าที่ตรวจพบในกระแสเลือด และในผู้ป่วยบางรายสามารถตรวจเชื้อไวรัสพบได้ในปัสสาวะด้วยเช่นกัน ข้อมูลนี้บอกว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถปลดปล่อยออกมาจากผู้ป่วยได้หลายช่องทาง การสัมผัสโดยตรงกับแผลหรือตุ่มหนองมีความเสี่ยงสูงสุด แต่การรับเชื้อจากน้ำมูก น้ำลาย ทางเลือด หรือทางปัสสาวะในห้องน้ำ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เป็นข้อมูลให้เราระวังตั้งรับกับไวรัสตัวใหม่นี้ หน้ากากอนามัยที่กำลังจะถอดกันนั้น อาจจะจำเป็นหากฝีดาษลิงเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น.

ผู้เขียน : หงเหมิน

กราฟิก : Theerapong.C