พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีมีรายงานข่าวการกระโดดตึกฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนและนักศึกษาต่อเนื่องว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งรีบดูแล ไม่ได้ดูแลเฉพาะหลังสูญเสียเท่านั้น แต่ต้องคอยเฝ้าระวัง สังเกต และป้องกันด้วย อย่างไรก็ตาม เด็กที่ทำร้ายตัวเองเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ต้องไม่ละเลยกลุ่มเพื่อนๆ ที่หลายคนมีความเปราะบางอยู่ด้วย
เด็กกลุ่มนี้อาจมีความรู้สึกผิดที่ปกป้องเพื่อนไม่ได้ หรือสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งอาจมีความเครียด ความซึมเศร้า หรือความคิดอยากจะเลียนแบบเกิดขึ้นได้เหมือนกัน จึงต้องมีทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด อาจมีกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้แสดงออกถึงความรู้สึก และดูแลสุขภาพจิตของกันและกัน กลุ่มครอบครัวของเด็กที่จากไปก็เช่นกัน มีความทุกข์ได้ในหลายรูปแบบ กรมสุขภาพจิตก็จัดทีมเข้าไปดูแลแล้ว อีกกลุ่มคือครูและบรรยากาศในโรงเรียน ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกัน อาจสงสัยหรือโทษตัวเองก็ต้องเข้าไปดูแล
พญ.อัมพรกล่าวอีกว่า หลังปิดเทอมมานาน พอเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เด็กที่มีความเปราะบางอยู่เดิมก็จะปรับตัวได้ยากมากขึ้น เป็นอีกช่วงที่ทุกคนต้องใส่ใจกันมากขึ้น ครูอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพิ่มความละเอียดอ่อนในการสังเกตลูกศิษย์ ทั้งนี้ กรมได้เร่งความร่วมมือกับเครือข่ายมากขึ้น เพิ่มช่องทางการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กให้เกิดกว้างขวางขึ้น.