จับตาสัปดาห์หน้าอาจพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย หลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมงานไพรด์พาเหรดที่กรุงเทพฯส่วนต่างชาติ 3 รายที่เป็นเริมกลับบ้านแล้ว กลุ่มเสี่ยงต่ำ 12 รายที่นั่งเครื่องบินกับผู้ป่วยยังไม่พบอาการใดต้องสงสัย วัคซีนเข็ม 5 พิจารณาเฉพาะกลุ่มจำเป็น “ชัชชาติ” เปรยอยากให้ถอดหน้ากากอนามัยเร็วที่สุด จ่อหารือขยายเวลาเปิดสวน ผับ บาร์ คาราโอเกะ

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยและผู้ป่วยเข้าข่ายเพิ่มเติม ชาวต่างชาติ 3 รายที่ตรวจพบเป็นโรคเริม ได้รักษาตัวและกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. ส่วนการเฝ้าระวังติดตามอาการกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ 12 ราย ที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงบนเครื่องบินที่รอต่อเครื่องในไทยไปออสเตรเลีย ที่ติดตาม 21 วัน ล่าสุด ไม่พบอาการใดๆ โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ความรุนแรงไม่ได้มากหายเองได้เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรคประสานไปยัง โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทางต่างๆ ว่า หากพบผู้ป่วย ที่เข้านิยามให้ส่งข้อมูลมาส่วนกลาง แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เข้านิยาม เช่น ไม่มีตุ่ม ไม่ออกผื่น

...

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า สัปดาห์นี้ไทยจะมีงานไพรด์พาเหรด จำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อในประเทศแล้ว ที่ตอนนี้มี 5 ประเทศจากเดิม 3 ประเทศ คือ แอฟริกา อังกฤษ โปรตุเกส สเปน แคนาดา รวมทั้งจับตาเยอรมนีเพิ่มเติม แต่ละวันมีผู้เดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน คาดว่าสัปดาห์หน้าอาจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทยได้ เพราะงานพาเหรดไพรด์ที่กรุงเทพฯ อาจมีผู้มาจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน อาจพบผู้ป่วยเข้ามาได้

ส่วนมาตรการที่ต้องเตรียมเฝ้าระวังในงานไพรด์พาเหรด นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ผู้จัดงานยังไม่ได้ประสานข้อมูลมา แต่กระทรวงวางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย แต่ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ส่วนการเฝ้าระวังป้องกันตนเองของผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรด หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกต เป็นความเสี่ยงหากพบผู้ที่มีอาการผื่นขอให้พามาตรวจที่ รพ. เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตามช่วงงานไพรด์พาเหรด แม้คนที่ร่วมงานยังไม่มีผื่น แต่ถ้าจะให้ดียังคงต้องทำ UP เว้นระยะห่างจากคนให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง มีความกังวลว่าหลังจบงานแล้วจะมีการเที่ยวกันต่อหลายวัน มีการสัมผัสใกล้ชิดมากๆอาจติดเชื้อได้

เมื่อถามถึงแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจำเป็นต้องป้องกันตัวด้วยชุด PPE หรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ใช่โรคติดต่อจากระบบทางเดินหายใจ แต่ติดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งแบบใกล้ชิด เช่น การกอด การจูบ ส่วนเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องมีการศึกษาและพิจารณาการใช้ว่าสอดคล้องกับการระบาดหรือไม่

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการให้วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นเข็มที่ 5 ว่า จะพิจารณาในกลุ่มผู้ที่มีความจำเป็น เช่น ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่กำหนดให้รับวัคซีนในชนิดต่างๆ หรือกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประชาชนทั่วไป ขณะนี้ยังไม่มีการให้วัคซีนเข็มที่ 5 อย่างเป็นทางการ แต่หากผู้ประสงค์จะรับ ให้ติดต่อได้ที่หน่วยบริการฉีดวัคซีน โรงพยาบาล สถานพยาบาล จะเป็นไปตามหลักการเดิมที่เคยปฏิบัติกัน คือพิจารณาระยะเวลาให้วัคซีน ชนิดวัคซีนตามดุลพินิจของแพทย์

ที่ทำเนียบรัฐบาล เที่ยงวันเดียวกัน พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงเรื่องโควิด-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,560 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 28 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่กลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความเสี่ยงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นและกลุ่มเด็กเล็ก โดยการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลัก ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 44.7% ส่วนเด็กเล็กที่มีอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มที่หนึ่ง 59% เข็มที่สอง 33.7% และ ศบค.ขอแจ้งว่า จากเดิมที่จะรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ แต่หลังจากนี้จะมีการปรับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉพาะผู้ที่มีอาการและเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลเท่านั้น และปรับการแถลงข่าวของ ศบค. เหลือเดือนละ 2 ครั้ง เป็นทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์เว้นสัปดาห์ หากสัปดาห์ไหนมีการประชุม ศบค. จะแถลงในวันดังกล่าว ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในไทยดีขึ้น ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อมีการผ่อนคลายกิจกรรม กิจการต่างๆ อาจจะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงขอให้ดูแลตัวเองแบบครอบจักรวาล ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะเตรียมความพร้อมตามหลัก 3 พอคือ เตียงเพียงพอ ยาและวัคซีนเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ ส่วนสถานประกอบการ โรงเรียน สถานที่ทำงาน กิจการห้างร้านให้อยู่ภายใต้มาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง และไม่จำเป็นต้องตรวจเอทีเคทุกสัปดาห์ จะตรวจเฉพาะเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่าติดเชื้อ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้อยู่กับโควิด-19 อย่างรู้ทัน กลับมาทำมาหากิน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแนวทางประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจเข้มแข็ง ประเทศแข็งแรง

...

ขณะเดียวกัน เมื่อคืนวันที่ 1 มิ.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เดินทางมาตรวจสถานประกอบการ สถานบันเทิง ย่านสุขุมวิท 63 (ซอยเอกมัย) เขตวัฒนา โดยเข้าตรวจร้านเบบี้เฟสและร้านเชอร์เบท นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ห่วงว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อ จึงมาลงพื้นที่ตรวจร้านที่ได้มาตรฐานและมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ พบว่าบางร้านมีการวางมาตรการมากกว่าที่กระทรวงกำหนด มีการตรวจ ATK ที่ทำให้ร้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถือว่าดีเกินมาตรฐานเป็นต้นแบบตัวอย่างได้ดี คนมาเที่ยวต้องฉีดวัคซีนครบถ้วน ส่วนภายในร้านพบว่ามีการถอดหน้ากาก แต่ถ้าตรวจ ATK ไม่น่าจะมีเชื้อ ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ดีอยากให้คงไว้ ขอให้กำลังใจสถานประกอบการ ถ้าทำตามกำหนดกระทรวงน่าจะปลอดภัย ช่วงแรกอยากให้จำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการ แม้ว่าเวลานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ กทม.ก็ยังพบผู้ติดเชื้อ สำหรับร้านประกอบการใด ถ้าพบสุ่มเสี่ยงจะแนะนำตักเตือน ถ้าถึงขั้นระบาดติดเชื้อต้องสั่งให้หยุดกิจกรรม

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จังหวัดภูเก็ต ประกาศให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะได้ว่า กรุงเทพฯก็อยากเปิดหน้ากากให้เร็วที่สุด แต่จะต้องมีการไปหารือกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสำนักอนามัย สำนักการแพทย์เพื่อดูข้อมูล เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อดีขึ้นในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ จะหารือถึงเรื่องการขยายเวลาการเปิดสวนสาธารณะ ร้านเหล้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ เชื่อว่าจะทำให้ความหนาแน่นของผู้ที่มาใช้บริการลดน้อยลงที่ จ.ภูเก็ตตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 1 มิ.ย.ที่เป็นคืนแรกของการอนุญาตให้เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จนถึงเวลา 24.00 น.หลังจากสถานบันเทิงต่างๆต้องหยุดให้บริการมาเป็นเวลาร่วม 2 ปี เพราะโควิด-19 บรรยากาศภายในซอยบางลา ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ที่เป็น

...

วอล์กกิ้งสตรีทหรือถนนคนเดินที่มีสถานบันเทิงนับร้อยพรั่งพร้อมด้วยแสงสีเสียงตระการตา อดีตเป็นแหล่งศูนย์รวมของสถานบันเทิงและนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมามีชีวิตชีวาและคึกคักอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติออกมาเดินเที่ยวชมบรรยากาศและใช้บริการกันอย่างสนุกสนาน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ อาทิ อินเดีย ออสเตรเลีย ยุโรป เป็นต้น โดยภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องที่ได้รับการผ่อนคลายให้เปิดบริการและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก่อนหน้านี้แล้วในรูปแบบของร้านอาหารกึ่งผับ มีนายอำนวย พิณสุวรรณ รอง ผวจ.ภูเก็ต กับนายศิวัชฐ์ ระวังกุล นอภ.กะทู้ร่วมปล่อยแถวกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าตอง ตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ต ฝ่ายปกครองอำเภอกะทู้ เทศบาลเมืองป่าตองและอาสาสมัคร ดูแลความเรียบร้อย ให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

นายวีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตองกล่าวว่า เริ่มนับหนึ่งใหม่ของคืนแรกที่ ศบค.อนุญาตให้ผับบาร์คาราโอเกะเปิดบริการได้ แม้จะเพียงเที่ยงคืนก็ตาม แต่ผู้ประกอบการพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ที่ผ่านมาได้ประชุมซักซ้อมความพร้อมในการเปิดให้บริการไปแล้ว ในส่วนของสถานบันเทิงที่จะเปิดให้บริการคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 90% ของร้านที่มีอยู่เดิม ก่อนเกิดโควิดประมาณ 200-300 ร้าน เพราะต่างรอมานานกว่า 2 ปี แต่มีส่วนน้อยที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง ความกังวลขณะนี้คงเป็นเรื่องของเวลาในการปิด เนื่องจากเปิดได้เพียงเที่ยงคืนแต่ด้วยบริบทของเมืองน่าจะทำได้ยากและไม่ตอบโจทย์เมืองเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวระดับโลก

...