"ประวิตร" ถก กนภ. ไฟเขียวโครงการรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า แทนรถโดยสารประจําทางสาธารณะของภาคเอกชน หวังลดก๊าซคาร์บอน-มลพิษ เพื่อสุขภาพของประชาชน

วันที่ 1 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ รองประธานกรรมการคนที่ 1

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยมีมติเห็นชอบต่อรายละเอียดการดำเนินงาน โครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (SHIFT Program Activity: “Operation of e-buses on privately owned, scheduled public bus routes in the Bangkok Metropolitan area by Energy Absolute”) และมอบหมายให้ ทส. นำรายละเอียดการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

โดยโครงการดังกล่าว จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 500,000 ตันคาร์บอนออกไซด์เทียบเท่า ตลอดอายุโครงการ 10 ปี และช่วยลด มลพิษฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจการผลิต รถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศ ประมาณ 8,500 ล้านบาท และกระตุ้นให้เกิดการนํารถยนต์สาธารณะไฟฟ้ามาใช้ ในประเทศได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีมติรับทราบ ความคืบหน้า การดำเนินโครงการกลไกเครดิตร่วม Joint Crediting Mechanism (JCM) ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการรับรอง ปริมาณคาร์บอนเครดิต จํานวน 5 โครงการ คิดเป็น 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก่อให้เกิดการลงทุน ภายใต้กลไกดังกล่าว ประมาณ 487 ล้านบาท รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2566 โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคการศึกษา 25 หน่วยงาน ร่วมประกาศ “MISSION 2023”

และ การปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำผลการศึกษาเบื้องต้น นำเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย และการรับฟังความคิดเห็นระดับประเทศ.

...