เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ผมอ่านสารคดีของ “ทีมการศึกษาไทยรัฐ” ที่นำลงในหน้า 7 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้วก็รู้สึกปลาบปลื้ม และขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่มีโครงการดีๆอย่างนี้อยู่ด้วย

นั่นก็คือโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” ดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เรียกกันย่อๆว่า สอศ.

มีรายละเอียดโดยสรุปว่า เป็นโครงการที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

โดยจัดตั้งในลักษณะโรงเรียนประจำและจัดการเรียนการสอนให้เด็กๆมีความพร้อมทางสังคม และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต ผ่านหลักสูตรประกาศนียวิชาชีพ หรือ ปวช.

ในปีงบประมาณ 2565 หรือปีปัจจุบันมีเป้าหมายที่จะดำเนินการจำนวน 88 แห่ง ภายใต้ความรับผิดชอบของวิทยาลัยต่างๆในเครือ คณะกรรมการการอาชีวศึกษาฯ

มีเด็กสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 3,600 คน หรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงยังเปิดรับต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งป่านนี้ก็คงจะครบกำหนดแล้ว

ผมไม่แน่ใจว่า เด็กจำนวน 3,600 คนนี้เป็นเด็กที่มาจากกลุ่มตัวเลขที่กำลังพูดถึงกันอย่างกว้างขวางด้วยความห่วงใยในขณะนี้หรือไม่

ได้แก่ตัวเลข “เด็กยากจนพิเศษ” ซึ่งเป็นเด็กที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จับตาอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นเด็กของพ่อแม่หรือครัวเรือนที่สมาชิกรายได้เฉลี่ย 1,332 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น แต่จะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาถึง 1,195-4,829 บาท โดยเฉลี่ยต่อเทอมในขณะนี้

...

ส่งผลให้เด็กยากจนพิเศษจากครัวเรือนที่จนเป็นพิเศษดังกล่าว ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

ล่าสุดจากการสำรวจของ กสศ.พบว่า หลังการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลข เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,244,591 คน หรือเกือบร้อยละ 20 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดของประเทศ

ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงว่า เด็กๆในครอบครัวยากจนที่ว่านี้อาจจะ “หลบหนี” หรือ “หลุด” ออกไปจากระบบการศึกษา เพราะความจำเป็นบังคับ...ซึ่งมีการพูดกันอยู่ว่า มี แต่ยังไม่แน่ใจว่าจำนวนมากน้อยแค่ไหน

ผมเคยมีโอกาสสัมภาษณ์ท่านรัฐมนตรีศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง เมื่อวันไปเปิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่สกลนคร ก็ลืมจดตัวเลขมาว่า จำนวนผู้หลุดจากระบบนั้นมีมากน้อยเพียงไร

ท่านรัฐมนตรียืนยันว่า ท่านจะตามกลับมาเรียนให้ได้ตามนโยบาย “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของ พล.อ.ประยุทธ์

ที่ผมถามขึ้นว่า เด็กที่จะเข้าโครงการ “เรียนฟรี อยู่ฟรี จบแล้วมีอาชีพ” ของคณะกรรมการอาชีวศึกษา...อยู่ในกลุ่ม “เด็กยากจนพิเศษ” ด้วยหรือไม่? เป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด? ก็ด้วยเหตุผลของความห่วงใย เด็กพิเศษเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษเหล่านี้แหละครับ

ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งในคอลัมน์นี้แล้วว่า ไม่มีการพัฒนาของประเทศเศรษฐกิจเสรีใดๆ ที่จะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ แม้แต่สหรัฐอเมริกาประเทศโคตระเสรีนิยมก็ยังโคตระเหลื่อมล้ำมากขึ้นและมากขึ้นในขณะนี้

แต่ระบบเศรษฐกิจเสรีก็เป็นระบบที่โลกนี้เลือกเดินมิใช่หรือ เพราะเราพิสูจน์กันมาแล้วว่า ระบบที่ทำให้คน “เท่ากัน” ไม่มีเหลื่อมล้ำ มีระบบเดียว เท่านั้นก็คือ ระบอบสังคมนิยมนั่นเอง

แต่แทนที่จะ “รวยเท่ากัน” กลับกลายเป็นว่า ประเทศสังคมนิยมต่างพากัน “จนเท่ากัน” ไปทั้งประเทศ เพราะด้วยตัวระบบไม่มีแรงจูงใจอะไรที่จะทำให้ผู้คนอยากจะร่ำรวย เพราะได้เท่าไร รัฐก็เก็บไปเสียเกือบหมด

ส่งผลให้ประเทศสังคมนิยมทั้งหลายต้องหันมาใช้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบคือ บวกเศรษฐกิจเสรีนิยมเข้าไปด้วยกันเป็นแถวๆ

ของเราเดินมาในระบบเสรีนิยมตลอดอยู่แล้ว สามารถเจริญเติบโตมาได้ระดับหนึ่งก็เดินต่อไปเถิด “ช่องว่าง” มันจะถ่างบ้างก็ช่วยๆ กันแก้ไขไป

ขอ “รัฐบาล” อย่าลืม “คนจน” แบบที่ทำอยู่นี้...ขอ “คนรวย” อย่าลืม “คนจน” แบบที่ผมเขียนขอร้องมาหลายครั้ง...รวยมากเท่าไร แบ่งไปช่วยคนจนให้มากเท่านั้น เราจะอยู่กันได้อย่างสันติสุข

ผมมั่นใจครับ...ว่าประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้าแน่นอน (ถ้าเราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและไม่ทะเลาะกัน!)

“ซูม”