ถึงวันนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนจะเป็นขาลง และกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่ากว่าสองปีที่ผ่านมาการศึกษาของชาติคือ หนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องการการฟื้นฟูเยียวยาอย่างจริงจังและเร่งด่วน

ข้อมูลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กว่าสองปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่ามีเด็กและเยาวชนเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ครอบครัวคนไทยที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ลูกจ้างรายวันทั้งหลาย เกิดสภาพ “ตายดิบ” หรือ “ตายครึ่งตัว” มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงเป็นสถิติใหม่ถึง 1,244,591 คน หรือคิดเป็น 19.98% ของนักเรียนทั้งหมด

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กุมบังเหียนโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ต้องเร่งคลอดโครงการต่างๆ เพื่อดึงเด็กหลุดระบบการศึกษากลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง ด้วยการจัดสารพัดแรงจูงใจให้ผู้ปกครองและเด็กตัดสินใจเข้ามาเรียน

และหนึ่งในโครงการที่ดูเหมือนจะโดนใจผู้ปกครอง และนักเรียน นักศึกษาไม่น้อย คือ โครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรือ ที่คุ้นหูในชื่อ โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

...

“โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เกิดจาก นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภา ด้านที่ 8 การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย และด้านที่ 9 การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม โดยเฉพาะข้อที่ 9.4 สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมด้านการศึกษา สุขภาพ การมีงานทำที่เหมาะสมกับประชากรทุกกลุ่ม ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการช่วยเหลือกลุ่มคนยากจน ประกอบกับ นโยบายของ น.ส.ตรีนุช ที่มีนโยบายการเพิ่มโอกาสและเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ สอศ.จึงจัดทำโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในลักษณะโรงเรียนอยู่ประจำที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก นักเรียนได้รับการเตรียมความพร้อมทางสังคมด้วยการเรียนรู้ทั้งการใช้ชีวิต และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคตผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)” ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ”

เลขาธิการ กอศ. เล่าด้วยว่า การดำเนินโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” มีเป้าหมายในการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 88 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคนิค ที่มีความพร้อมที่จะเป็นสถานศึกษานำร่องในการจัดการศึกษารูปแบบอยู่ประจำ โดยนำรูปแบบโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) มาใช้จัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้กว่า 5,000 คน เรียนฟรี มีหอพัก มีอาหาร ที่สำคัญมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย ซึ่งสาขาที่เปิดสอนจะเป็นหลักสูตรที่เป็นความต้องการของตลาด สามารถการันตีได้ว่าจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน

...

“พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและเน้นย้ำจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาในช่วงสถานการศึกษาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบต้องหลุดจากระบบการศึกษา ศธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยในส่วนของ สอศ. ศธ.ได้มอบหมายให้ทำโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้กลับเข้ามาเรียนในระบบ ในปีการศึกษา 2565 ถือเป็นปีแรกของโครงการนำร่องในวิทยาลัยที่มีความพร้อม จำนวน 88 แห่งทั่วประเทศ รับเด็กยากจน ด้อยโอกาส เข้ามาศึกษาต่อในระดับ ปวช. โดยที่เด็กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีที่พัก มีอาหารให้ฟรี นอกจากนี้ สอศ.ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่หางานให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย เบื้องต้นขณะนี้มีเด็กสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 3,600 คน ถือว่าเป็นการตอบรับในเกณฑ์ที่ดี คิดเป็นประมาณ 70% และยังเปิดรับต่อไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ นอกเหนือจากการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนแล้ว ตนได้เน้นย้ำสถานศึกษา เมื่อผู้ปกครองไว้วางใจให้บุตรหลานมาเรียนด้วยแล้วก็ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาให้ดี เพราะเด็กมาจากหลากหลายพื้นที่ที่เข้ามาอยู่ร่วมกัน อีกทั้งให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อช่วยดึงกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเป้าหมายในบางพื้นที่เข้ามาเรียนในโครงการฯด้วย” น.ส.ตรีนุช ย้ำชัดถึงการให้ความสำคัญของโครงการนี้

...

ขณะที่ นางกฤษณา แก้วไกรสร ผู้ปกครองนายพีรพัฒน์ แก้วไกรสร นักศึกษา ปวช.1 หลักสูตรการค้าปลีก วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ครอบครัวของตนอยู่ในพื้นที่ อ.เขาตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งบ้านอยู่ค่อนข้างไกลจากวิทยาลัยการอาชีพบางปะกง แต่เนื่องจากลูกชายอยากมาเรียนที่นี่เพราะมีโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ อีกทั้งมีสาขาหลักสูตรการค้าปลีกที่ลูกอยากจะเรียน จึงตัดสินใจให้มาเรียนที่นี่ เพราะค่าใช้จ่ายไม่มาก หอพักสะดวกสบาย มีครูอาจารย์ดูแลอย่างดี ที่สำคัญมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานรองรับ ทั้งนี้ ยังมีเด็กในหมู่บ้านที่อยากมาเรียนที่นี่อีกหลายคน เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ผู้ปกครองไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางพาลูกมาสมัครเรียน จึงต้องหันไปเรียนในโรงเรียนมัธยมฯใกล้บ้านแทน

“ทีมการศึกษา” เห็นด้วยกับ ศธ.ที่เร่งผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนที่หลุดจากระบบการศึกษา

แต่สิ่งสำคัญที่เราต้อขอฝากไว้คือ จะทำให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความทุ่มเท และเสียสละจากผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการค้นหาเด็กที่ขาดโอกาสที่ยังเล็ดลอดหลุดจากระบบการศึกษาไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม และต้องยึดถือเป็นหน้าที่สำคัญ ซึ่งทุกคนต้องไม่มองข้าม

เพื่อให้อนาคตของชาติ ที่รัฐบาลประกาศไว้ชัดเจนว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำพูดสวยหรูบนแผ่นกระดาษเท่านั้น.

...

ทีมการศึกษา