สัจภูมิ ละออ เกิดริมแม่น้ำจรเข้สามพัน เมืองสุพรรณบุรี ตอนเด็กๆเดินตามหลังพ่อหาปู ปลา หรือสัตว์ทุ่งเป็นกับข้าว เจอกัน
วันสองวันนี้ เป็น ดร.ไปแล้ว เขายังมีงานเขียน งานบรรยาย แต่ผมยังรักและหลงเสน่ห์วิชา “พรานทุ่ง” (สำนักพิมพ์สายธาร พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2550) มากกว่า
เปิดหนังสืออ่านไม่กี่หน้า เจอเรื่องกระจู้ สำหรับปลาไหลดวงจู๋
อ๊ะ!ชื่อเรื่องนอกจากคุ้นๆแล้ว เนื้อเรื่องยังทำให้นึกถึงใครต่อใครที่กำลังดวงจู๋ได้อีกหลายคน
ในห้องเรียนสมัยเด็ก ครูให้อ่านดังๆ ป้ากะปู่ กู้อีจู้ หลังเลิกเรียน เราก็ต่อท้าย ด้วยคำคล้องของ “ป้าไม่อยู่ ปู่ชักว่าว”บทเรียนทะลึ่งตึงตังตอนเด็ก ยังมีอีก วันโกนโดนไม้เรียว วันพระฉะข้าวเหนียว
โรงเรียนปิดวันโกน วันพระ เพราะต้องอาศัยศาลาวัดเป็นห้องเรียน วันโกนเราช่วยกันทำความสะอาดศาลา คำว่า วันโกนโดนไม้เรียว มีนัยว่าเด็กถูกครูตีเพราะหนีการกวาดถูศาลา
พอวันพระ “ฉะข้าวเหนียว” ก็หมายถึงได้กินขนมก้นบาตรพระ “อิ่มหมีพีมัน”
ถ้าไม่ผ่านความยากลำบาก ไหนเลยจะได้ลิ้มรสความหอมหวานของชีวิต นี่คือบทเริ่มต้นเรื่องอีจู้ ที่สัจภูมิเขียนได้ “ละออ” ตามนามสกุลตัวเอง
เมื่อเราอยากกินปลาไหล ถ้าไม่ไปหาเหยื่อ ไม่ไปหาที่ดักอีจู้ ไหนเลยจะได้ปลาไหลกิน
การดักปลาไหลด้วยอีจู้นั้นแสนง่าย เสียดายที่คนสานอีจู้ฝีมือดีๆ ล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว แต่ก็ยังโชคดีที่ยังมีอีจู้วางขายอยู่บ้างตามตลาดบางท้องถิ่น
รูปร่างของอีจู้ มองๆไปก็เหมือนกับข้องใส่ปลา แต่คอของมันยาวกว่า ภายในอีจู้มีซองใส่เหยื่ออยู่ด้วย 1 อัน
ก่อนดักอีจู้เราต้องหาเหยื่อก่อน หอย ปู หรือไม่ก็หัวปลา หอยกับปูนั้นต้องโขลกเสียก่อนแล้วจึงใส่ลงไป ส่วนหัวปลาใส่เข้าไปในซองเหยื่อได้เลย
...
ใส่เหยื่อเสร็จก็ใช้ไม้ขัดปากเสียให้เรียบร้อย แล้วจึงเอาไปดัก
ปลาไหลชอบอยู่ในที่รกเรื้อ เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าแถวๆป่าช้าปลาไหลชุมนัก แต่ใครเล่าจะหาญไปดัก แม้จะไม่กลัวผี ถ้ารู้ว่าดักปลาไหลได้จากป่าช้า ใครเลยจะกินเข้าไปลงคอ
สถานที่รกเรื้อที่ว่าไม่ใช่ป่าช้า หมายถึง ชายน้ำที่เต็มไปด้วยกอสวะ ผักป่อง ผักตบ หรือไม่ก็ดงบอน ปลาไหลจะหากินอยู่ย่านนั้น
เราเอาอีจู้ไปดักไว้ ถึงตอนเช้าค่อยไปเก็บเอากลับบ้าน (ไม่ยากเหมือนในบทเรียนปู่ต้องช่วยป้ากู้)
ได้ปลาไหลมาแล้ว เมนูเด็ดชาวบ้านมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า ผัดเผ็ด หลามปลาไหล ต้มเปรต ต้มยำ หรือไม่ก็ย่างให้แห้งเอาไว้จิ้มน้ำพริกกินกับข้าวก็ได้
ตอนเด็กๆแม่มักใช้ให้ฉันจัดการกับกลิ่นคาวของปลาไหล
ฉันต้องเอามันไปที่กองแกลบ เอาน้ำเทรดแกลบให้เปียก แล้วเอามาถู เข้ากับตัวปลาไหล จนเมือกและผิวของมันขาวจั๊วะ
ถ้าไม่มีแกลบก็อาจใช้ใบข่อย ขี้เถ้า หรือใบฟักทองก็ได้
แต่ถ้าจะให้เร็ว ก็ใช้น้ำร้อนลวก แล้วเอาช้อนขูดผิวให้เกลี้ยง
วิธีนี้เราไม่นิยมใช้ เพราะถ้าลวกหนักมือไป เนื้อปลาจะเปื่อยยุ่ย
เมื่อประกอบอาหารรสอร่อยจะเจื่อนจางลงไป
“จะกินปลาไหลให้อร่อย ก็ต้องออกแรงกันบ้าง” สัจภูมิ ละออ จบเรื่อง
ผมอ่านเรื่องอีจู้แล้ว ก็คิดฟุ้งซ่าน วัฏจักรชีวิตคนที่พูดจาเหมือนปลาไหล เริ่มต้นร้องเพลง ขอเวลา...อีกไม่นาน...คนฟังก็เพลินเผลอ...จนวันนี้นึกขึ้นได้ ว่าไม่นานๆนั้น นี่มันตั้งแปดปีเข้าไปแล้วนี่นา!
บทสุดท้ายของปลาไหลจึงไม่แปลก...ที่มักถูกถลกหนังกิน.
กิเลน ประลองเชิง