หนึ่งในโครงการ หอมขจรฟาร์ม ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี คือแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะปลอดสารเคมี ที่มุ่งเน้นให้ชาวบ้านปลูกเมล่อนในโรงเรือนต้นทุนต่ำแบบมืออาชีพ ปั้นเกษตรกรบ้านๆให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยใช้วิธีการปลูกจากงานวิจัยของตัวเอง จนสามารถสร้างรายได้เสริมไม่น้อยกว่าปีละ 54,000 บาท...ด้วยมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับธาตุที่ให้ความหวานอย่างโปแตสเซียม

“เทคนิคการปลูกตั้งแต่วัสดุปลูกไปจนถึงขั้นตอนการดูแลบำรุงรักษา เราจะใช้งานวิจัยของตัวเองทั้งหมด เน้นใช้วัสดุปลูกที่ประหยัดหาได้ทั่วไปอย่างขุยมะพร้าว ใช้ระบบน้ำหยดทำให้เมล่อน 1 ต้น ใช้น้ำวันละ 1-1.5 ลิตร ใช้เวลาปลูก 2.5 เดือน ใน 1 ปี สามารถปลูกได้ 3-4 ครอป แต่ที่นี่จะแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญให้ปลูก 3 ครอป โดยฤดูฝนควรพักเมล่อนแล้วปลูกมะเขือเทศที่มีราคาสูงแทน เมื่อชำนาญแล้วจึงสามารถปลูกเมล่อนได้ทั้งปี ระบบการปลูกจะเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด ควบคุมผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ”

ธนากร บุญกล่ำ นักวิจัยและพัฒนาโครงการ หอมขจรฟาร์ม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี อธิบายขั้นตอนการปลูกแบบฉบับของหอมขจรฟาร์ม...วัสดุปลูกใช้กากมะพร้าว 2 ส่วน ขุยมะพร้าว 2 ส่วน นำมาล้างสารเทนนินที่เป็นสีน้ำตาลออกให้หมด โดยแช่น้ำไว้ในถุง 1 สัปดาห์ หรือหมักอีเอ็มทิ้งไว้ 3 วัน สามารถใช้ได้ 2 ครอป

...

ส่วนการเพาะเมล็ด เริ่มที่นำเมล็ดแช่น้ำอุ่นทิ้งไว้ 3 ชม. แล้วบ่มเมล็ด โดยนำเมล็ดมาใส่ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ ปล่อยไว้ 1 วัน รากจะเริ่มงอกให้เห็น ให้นำมาใส่ในถาดเพาะกล้าที่บรรจุพีชมอสเป็นวัสดุปลูก จนกล้าอายุ 12 วัน จึงนำลงปลูกในวัสดุปลูกที่เตรียมไว้

จากนั้นให้ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรท 15-0-0 ทางน้ำทุกวันในอัตราปุ๋ย 1 กรัม/ต้น/วัน/น้ำ 1 ลิตร ผ่านไป 20-21 วัน จะเริ่มเห็นดอก ให้เปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 0-52-34 อัตรา 0.5 กรัม/ต้น/วัน/น้ำ 1 ลิตร พร้อมกับทำการเขี่ยเกสรตัวผู้ลงไปในเกสรตัวเมีย โดยให้เลือกเขี่ยในช่วงครึ่งวันเช้า เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการติดผล เมื่อเริ่มเห็นผลติดแล้วเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 21-21-21 และ 13-5-42 อัตราเท่ากันคือ 0.5 กรัม/ต้น/วัน/น้ำ 1 ลิตร ช่วงนี้ให้คัดผลที่สมบูรณ์สวยงามได้รูปทรงไว้ต้นละ 1 ผล เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ ผลจะมีขนาดประมาณไข่ไก่ให้คงไว้แต่ปุ๋ยสูตร 13-5-42 เท่านั้น ในอัตรา 1.5 กรัม/ต้น/วัน/น้ำ 1 ลิตร

ถัดมาอีกสัปดาห์ผลจะใหญ่ขึ้นให้เร่งความหวานโดยเพิ่มปุ๋ยตัวท้ายโดยเปลี่ยนเป็นสูตร 0-0-50 อัตรา 0.5 กรัม/ต้น/วัน/น้ำ 1 ลิตร ให้เฉพาะตอนมีแสงเท่านั้นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะโปแตสเซียมเป็นตัวเคลื่อนย้ายธาตุอาหารไปยังทุกส่วนโดยเฉพาะผลที่ต้องการเพิ่มความหวาน เปรียบเสมือนรถบรรทุกที่ขนส่งธาตุอาหารสู่พืช ที่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชควบคู่กันไป

เพราะเมื่อพืชสังเคราะห์แสงจะได้ออกซิเจน และแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต แล้วเปลี่ยนเป็นรูปแบบน้ำตาล โดยมีโปแตสเซียมเป็นตัวช่วยลำเลียงเข้าสู่ผล ฉะนั้นหากไปใส่ปุ๋ยตัวท้ายตอนไม่มีแสง พืชจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงแล้วเปลี่ยนเป็นความหวานได้ ใส่โปแตสเซียมไปเท่าไร ก็ไม่ได้ความหวานเพิ่ม จากนั้นอีกราว 10 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้...สนใจสอบถามได้ที่ 0-2244-5049 lind ID : @Homkhajorn หรือเพจ : หอมขจรฟาร์ม.

...

กรวัฒน์ วีนิล