“...จะไม่เกิดวิกฤติสูญเสียสาหัส หากวงการเมืองสุจริตวงบริหารจัดการนโยบายซื่อสัตย์ และวงวิชาการมีจริยธรรม...” ยังเป็นคำกล่าวย้ำมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทุกๆวันคุณหมอ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยังคงโพสต์ข้อมูลอัปเดตความรู้ต่างๆเกี่ยวกับไวรัสร้าย “โควิด-19” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอราวกับเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ไหวติงต่อลมฟ้าอากาศ แถมหยัดยืนเพื่อให้กิ่งก้านร่มใบแผ่ร่มเงาให้ความร่มรื่น ฉ่ำเย็น เป็นประโยชน์ต่อโลก
เปิดบันทึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา...ผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 525 ล้านคนไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 739,960 คน ตายเพิ่ม 1,453 คนรวมแล้วติดไปรวม 525,478,553 คน เสียชีวิตรวม 6,296,519 คน 5อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน เยอรมนี ออสเตรเลีย สหรัฐฯ
จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก...จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.17 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 71.64
...
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้น คิดเป็นร้อยละ 60.01 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่ม คิดเป็นร้อยละ 17.27
สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometerเช้านี้ พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ10ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 13 ของโลกถึงแม้สาธารณสุขไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวาน คิดเป็น 16.73% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
อัปเดต “โอมิครอน” ทีมวิจัยจาก Beth Israel Deaconess Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาลักษณะของโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.2.12.1, BA.4 และ BA.5 เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ไวรัสดั้งเดิม...ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า
สายพันธุ์ “โอมิครอน” นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง BA.2.12.1, BA.4, BA.5 นั้น สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมๆ อย่าง BA.1 และ BA.2
อัปเดต “ลองโควิด (Long COVID)” อาการลองโควิดที่พบบ่อยคือ การหายใจที่ผิดปกติ อาการไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว และเหนื่อยล้า...อ่อนเพลีย โดยมีอาการผิดปกติที่พบมากจำเพาะตามช่วงอายุ เช่น MIS-C (ภาวะอักเสบหลายอวัยวะในร่างกาย) ในเด็กเล็กอายุ 0-12 ปี, ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในคนอายุ 13-22 ปี
ภาวะเครียดและวิตกกังวลในคนอายุ 23–35 ปี และภาวะความดันโลหิตสูงในคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
ยังพบอีกว่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนติดเชื้อโควิด-19 ประชากรกลุ่มที่ศึกษานี้พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ (myopathies) เพิ่มขึ้น 11.1 เท่า, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า อาการผิดปกติทางสมอง...ระบบประสาท และ...อาการเหนื่อยล้า...อ่อนเพลีย มากขึ้น 2 เท่า
...
ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะ “ลองโควิด” เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มอาการทั้งไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงก็ตาม
“โควิด...ไม่จบแค่หายหรือเสียชีวิต แต่ที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ ลองโควิด ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิตและการทำงาน โดยจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ...ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก”
รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า สถานที่ทำงานที่สามารถจัดระบบงาน ลดความแออัด และให้เวิร์กฟรอมโฮมได้นั้น ควรทำต่อเนื่องไปในอนาคต ก็จะเป็นการดี...หลายงานหลายกิจกรรมไม่จำเป็นต้องไปออนไซต์ และการ WFH กลับทำให้ผลผลิต (productivity) มากกว่าเดิม ประหยัดเวลา ประหยัดทรัพยากร วัดประเมินกันที่ผลลัพธ์
น่าสนใจว่า...หลายประเทศทั่วโลกก็ดำเนินตามแนวโน้มข้างต้น
ประเด็น “Endemic diseases”...หรือ “โรคประจำถิ่น”
“การประกาศให้โรคใดโรคหนึ่งเป็นโรคที่พบได้ประจำในท้องถิ่นนั้น สิ่งที่ต้องบรรลุก่อนคือ การรู้จักธรรมชาติของมันว่าระบาดอย่างไรสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรคนั้นได้”
...
แต่สำหรับ “โควิด-19” นั้น ตราบจนถึงปัจจุบันยังคาดการณ์ได้ยากว่าตัวเชื้อไวรัสนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอ่อนแอลงหรือแข็งกร้าวมากขึ้น แม้ในประเทศตะวันตก พอจะสังเกตเห็นได้จากสองปีที่ผ่านมาว่าจะระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว แต่ก็ยังฟันธงไม่ได้แน่นอนนัก
นอกจากปัจจัยข้างต้นยังต้องประเมินดูสถานะที่แท้จริงของประเทศว่า ตัวเลขที่เห็นจากรายงานทางการทุกวันนั้น มันสะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมจริงหรือไม่?
เพราะหากเป็นภาพจริง ก็ย่อมทำให้ประเมินสถานะตนเองได้ดีว่า การระบาดนั้นเอาอยู่ ทรัพยากรเพียงพอและสูญเสียน้อย จนควบคุมโรคอยู่หมัดได้จริง
แต่...หากเป็นภาพที่ไม่ตรงกับความจริง ตัวเลขติดเชื้อน้อย ทั้งที่จริงแล้ว คนตรวจด้วยตนเองแต่ไม่รายงาน หรือไม่ตรวจแม้จะมีอาการไม่สบายเพราะรู้ว่า รายงานเข้าระบบไปก็ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
...วิ่งหาหยูกยาหรือรักษาตนเองดูจะสะดวกกว่า หรือไม่รายงาน เพราะรู้ว่าหากเลเบลตนเองว่าติดเชื้อจะต้องหยุดงาน ไม่มีกลไกสนับสนุนช่วยเหลือเยียวยาอย่างเพียงพอ
...
หรือหากตัวเลขตายลดลงสวยงาม แต่โดยแท้จริงแล้วไม่สะท้อนสถานการณ์จริงที่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตาย โดยพบว่า ติดเชื้อแต่มีโรคอื่นประจำตัว ไม่รวมไว้ในรายงานสถานการณ์ให้สังคมได้ทราบ ก็ย่อมส่งผลต่อการประเมินสถานการณ์ และการรับรู้ความเสี่ยงที่บิดเบือนไป จนอาจเกิดผลต่อพฤติกรรมป้องกันตัว
นับรวมไปถึงการวางแผนนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมถึงการผลักดันให้เป็น “โรคประจำถิ่น” ได้เช่นกัน...ที่สำคัญมากคือ การประเมินระบบสุขภาพของตนเองว่า จริงๆแล้วหยูกยาที่มีใช้นั้นเป็นไปตามหลักฐานทางการแพทย์มาตรฐานสากล มีปริมาณเพียงพอ เข้าถึงได้สะดวกหรือไม่
รวมถึงวัคซีนป้องกันและสัดส่วนประชากรทุกช่วงวัยที่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนที่ดี มีมาตรฐานสากลอย่างเพียงพอ ทุกเรื่องข้างต้นล้วนมีความสำคัญในการกำหนดย่างก้าวของแต่ละประเทศท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ได้สิ้นสุด
หลายเรื่องในสังคมนั้นเปรียบเหมือนการขึ้นรถไฟที่ไม่หวนกลับ เช่น การปลดล็อกกัญชา ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว การตัดสินใจเรื่องโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน ธรรมดา...เอาอยู่...เพียงพอ...ประจำถิ่นรวดเร็วดังสายฟ้าแลบ ผลลัพธ์ที่ผ่านมาประชาชนในแต่ละประเทศย่อมทราบดีว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่
มันใช่จริงหรือ? สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทุกคนในสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด.