นับว่าเป็นกระแสร้อนแรงจุดประกาย ให้สังคมขบคิดกันครั้งใหญ่กับ “สำนักลัทธิประหลาดอ้างตัวเป็นพระบิดาทุกศาสดา” สั่งสอนให้เหล่าผู้นับถือสาวก “ดื่มกินสิ่งปฏิกูลของเสียขัดออกจากร่างกาย” เพื่อบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บกลายเป็น “อวดอุตริ” สร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนให้หลงเชื่องมงาย

ตอกย้ำให้เห็นถึง “ความเชื่อประหลาด” ยังคงปรากฏแฝงเป็นส่วนหนึ่งอยู่คู่ขนานในสังคมเสมอมา สังเกตจากช่วงเวลายากลำบาก “คนไทย” มักมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจหันหาพึ่งพา “สิ่งเหนือธรรมชาติ” ช่วยปัดเป่าขจัดทุกข์นี้ที่ถูกพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าว่า เรื่องความเชื่อลัทธิแปลกประหลาด สิ่งลี้ลับ พิธีกรรมพิสดารไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่มีมาตั้งแต่พุทธกาลถูกเขียนในหนังสือหลายเล่ม สามารถเกิดได้กับหลายคนมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมห่างไกล

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา
ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา

...

ด้วยสมัยก่อน “รับรู้กันเฉพาะกลุ่มท้องถิ่นนั้น” กล่าวขานเล่าลือไปได้ไม่ไกลมาก หากเทียบกับยุคนี้สังเกตได้ “ถ้ามีความเชื่อแปลกประหลาดเกิดขึ้น” มักถูกเผยกระจายถ่ายทอดออกไปผ่านโลกโซเชียลฯ จนสามารถรับรู้พร้อมกันทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้กลายเป็นเรื่องราวแปลกประหลาดใหม่ของคนยุคนี้

ยิ่งกว่านั้น “คนยุคใหม่” ชอบสงสัยในสิ่งแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นเสมอ แตกต่างจาก “คนสมัยเก่า” หากได้เชื่อศรัทธากันแล้วจะไม่มีคำถามข้อสงสัยใดๆ ยกตัวอย่างเช่น “เรื่องของพระครูโพนสะเม็ก หรือยาคูขี้หอม” เป็นมหาเถระเมื่อราว 300 ปีมาแล้ว มีชื่อเสียงลือชาปรากฏเป็นที่รู้จักกันทั้งสองฝั่งโขง และลาวตั้งแต่เหนือสุดใต้

ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ทรงคุณงามความดี เป็นที่เคารพรักนับถือของประชาชน เล่าลือกันว่าแม้อุจจาระของท่านก็ไม่เหม็น จึงถวายเนมิตกะนามว่า “ยาคูขี้หอม” อันเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์แห่งศรัทธามาจนถึงวันนี้

บันทึกพระไตรปิฎกในเรื่อง “ชัมพุกาชีวก” เป็นผู้ชอบบริโภคอุจจาระถูกจับให้บวชสำนักอาชีวกที่ไม่ชอบบิณฑบาตแต่แอบกินอุจจาระผู้อื่น “อ้างตนว่ากินลม” มีผู้หลงผิดเลื่อมใส 55 ปี “พระพุทธเจ้า” ทรงเทศน์โปรดชี้แสงสว่างให้หยุดหลอกลวงมหาชนจนหันมา “บวชในพระพุทธศาสนา” สามารถตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ในที่สุด

อีกเรื่อง “พระพาหิยทารุจีริยเถระ” มีอาชีพค้าขายโดยทางเรือไปทั่วจนทะเลเกิดมรสุมคลื่นซัดเรืออับปาง ท่านรอดคนเดียวด้วยอาศัยกระดานลอยน้ำเข้าฝั่ง ที่ร่างกายไม่เหลืออะไรปกปิดความละอาย ได้เอาใบไม้เปลือกไม้มานุ่งห่มขออาหารกิน “ประชาชนเห็นคิดว่าเป็นพระอรหันต์” แม้แต่ท่านก็หลงเข้าใจแบบเช่นนั้นด้วย

ต่อมามหาพรหมเพื่อนเก่าในอดีตชาติแปลงร่างลงมาเตือนสติ “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์” ตอนนี้พระพุทธองค์เป็นพระอรหันต์ประทับอยู่วัดพระเชตวัน จึงไปทูลขอบวชจากพระพุทธเจ้าจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

สะท้อนให้เห็นว่าบางคนจงใจทำให้คนเชื่อก็มี และบางคนไม่มีเจตนาแต่แรก พอมีผู้เลื่อมใสยกให้เป็นผู้วิเศษก็หาพิธีกรรมให้เหนือกว่าคนปกติ เพื่อให้เชื่อศรัทธา นำสิ่งได้รับกราบไหว้บูชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

เรื่องแบบนี้มีมาตลอดจนปัจจุบัน ในส่วน “สำนักลัทธิแปลก” ปรากฏเป็นข่าวนั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่บุคคลภายนอกเพิ่งเคยเห็นรับรู้เท่านั้นเอง “ทำให้มองเป็นเรื่องแปลกประหลาด” ยิ่งพฤติกรรมแบบนี้หลายกรณีถูกตีแพร่บนโลกออนไลน์ลักษณะการหลอกลวงเกิดให้เห็นกันอยู่บ่อย ตอกย้ำ “คนยุคใหม่” ไม่เชื่อมากกว่าเดิมอีก

...

เมื่อไม่เชื่อเช่นนี้ก็ “เกิดข้อสงสัย มีคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา” ในทางกลับกันสำหรับ “คนเชื่อศรัทธา” ส่วนใหญ่ต้องมีสิ่งปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ให้เชื่อศรัทธาสิ่งนั้นสนิทใจ เช่น กรณีกราบไหว้เจ้าแม่ตะเคียน หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอหวย ปรากฏว่าถูกหวยจริงบ่อยๆ ทำให้คนเชื่อพากันมากราบไหว้เยอะขึ้น

ทว่าการเกิดความเชื่อมากดังกรณี “สำนักลัทธิประหลาดอ้างตัวเป็นพระบิดา” ส่วนใหญ่เป็นเฉพาะกลุ่มคนส่วนน้อย “ลักษณะอวดอุตริสร้างพลังศรัทธาผสมผสานหลักจิตวิทยา” เมื่อทำไปทำมากลับมีคนกราบไหว้ก็หลงผิดคิดเองคือ “ผู้วิเศษจริง” สามารถรักษาบำบัดโรคหายได้จนเกิดการบอกเล่าต่อกัน

แต่สิ่งนี้ล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับ “ไสยศาสตร์” ในแต่ละสำนักที่ร่ำเรียนวิชานำมาใช้ให้เกิดผลดี โชคลาภ และการรักษาโรคด้วยวิชามนตร์ คาถา อาคม ควบคู่กับใช้สมุนไพร แม้แต่กระทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้อื่นก็มี

“ช่วงแรกมักไม่มีใครเชื่อเลื่อมใส แต่เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยไปรักษาอาจมีคนหายอาการดี หรือบางคนกราบไหว้แล้วประสบความสำเร็จ จนถูกเล่าบิลต์อารมณ์ต่อกันไปเรื่อย กลายเป็นความเชื่อศรัทธา ฉะนั้นสิ่งนี้มีปรากฏขึ้นอยู่จริงในสังคมไทยกระจายในหลายจังหวัดของประเทศมากมายอย่างไม่มีวันสิ้นสุดขณะนี้” ผศ.ดร.กังวล ว่า

...

หากพูดถึง “ไสยศาสตร์” มีหลายแขนงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก... “ไสยขาว” เน้นปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนา เรียนวิชาอาคมช่วยเหลือผู้อื่น เช่น รักษาโรคภัยไข้จับ ป้องกันอันตรายที่เกิดจากภูตผีปีศาจ

ทั้งการป้องกัน “โจรผู้ร้าย–ข้าศึกศัตรู” ในอาคมคงกระพันชาตรี ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า หรือใช้ประกอบพิธีสิริมงคล “สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ” เขียนเป็นตำราผ่านประสบการณ์แต่ละยุคสมัยจนถึงวันนี้

จริงๆแล้วสมัยอดีต “คนเรียนไสยศาสตร์ เวทมนตร์ คาถา” ไม่เคยหวังผลประโยชน์ มักทำช่วยเหลือขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ให้ผู้อื่น แต่ปัจจุบันผู้เรียนจงใจแสดงอิทธิฤทธิ์ประชาสัมพันธ์หวังผลประโยชน์บางอย่างนั้น

ดังนั้น กลุ่มผู้เล่นกับ “ความเชื่อเหล่านี้” จึงเป็นช่องทางหาประโยชน์สร้างรายได้ ไม่ว่าจากวัด ลัทธิ สำนักอ้างเป็นผู้มีวิชาอาคม ปรากฏในสังคมไทยเยอะมาก บางสำนักทำเงินร่ำรวยหลายร้อยล้านบาทด้วยซ้ำ

ถัดมา...“ไสยดำ หรือมนตร์ดำ” คนเรียนปฏิบัติจะนำไปใช้ผิดแปลกจากปกติ เพื่อทำต่อคนอื่นให้ได้รับอันตรายความทุกข์ทรมาน “ผู้เรียนจะมีข้อห้าม” เช่น ห้ามด่าพ่อแม่ ห้ามผิดลูกเมีย ห้ามลอดราวตากผ้า ในปัจจุบันปฏิบัติกันแบบหละหลวมไม่เป็นตามครูบาอาจารย์สั่งสอนมา ทำให้ความขลังของวิชาอาคมเปลี่ยนไป

...

เมื่อปฏิบัติไม่ได้ “ของก็ย้อนเข้าตัวเป็นโทษ” เช่น เกิดอันตราย เจ็บปวด หรือไม่เจริญรุ่งเรือง

หนำซ้ำเคยมีคนบอกว่า “หมออาคมบางคนร่ำเรียนไสยเพิ่มพลังอาคมให้แกร่งกล้า” ด้วยการดื่มกินน้ำเหลืองศพผู้หญิงตายทั้งกลม แต่เป็นความเชื่อกลุ่มเล็ก มีผู้สืบทอดน้อย รับรู้ในวงด้านไสยมนตร์ดำเท่านั้น

ย้อนกลับมา “กลุ่มปฏิบัติตัวอย่างผู้ถือศีล” โดยปกติสมัยก่อนเป็นผู้มีคาถาวิชาอาคมจริงๆ แต่ปัจจุบันเชื่อว่า “ถือศีลไม่จริง มีวิชาอาคมปลอม” เพราะด้วยการปฏิบัติวางตัว และการทำพิธีกรรมมุ่งหวังผลประโยชน์อย่างเช่น “เจ้าลัทธิมีชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์” ผู้คนเคารพนับถือกันอย่างกว้างขวางมาก

เชิญท่านไปประกอบพิธีบางอย่างโดยไม่มีปัจจัยถวาย หรือไม่มีผลประโยชน์อื่นตอบแทน “ท่านมักไม่ว่าง” ดังนั้นพูดง่ายๆ “สิ่งใดทำหวังผลตอบแทน” บุคคลเหล่านี้จะไม่น่าเชื่อศรัทธามากเท่าไรนัก

และถามว่า “เจ้าลัทธิแสดงตนเป็นผู้ถือศีลทำไมไม่บวชเป็นพระ...?” เพราะด้วยการบวชพระมีกฎระเบียบปฏิบัติมากมาย “เมื่อบวชแล้วอาจจะปฏิบัติไม่ได้” กลายเป็นการขัดแย้งกับพระธรรมวินัย ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงคงรักษาเพศนักบวชไว้ด้วยการปฏิบัติอยู่ในศีล แต่อีกเพศหนึ่งก็นุ่งห่มขาว หรือเป็นรูปแบบอื่นแทน

กรณี “อ้างเป็นพระบิดา” เป็นลัทธิความเชื่อส่วนตัว “เมื่อปฏิบัติแปลกประหลาดกลับมีคนศรัทธา” กลายเป็นเชื่อมั่นตั้งกฎปฏิบัติขึ้นเอง เรื่องนี้ไม่ใช่มีเฉพาะ จ.ชัยภูมิ แต่หลายจังหวัดมีอยู่เยอะเหมือนกัน

โดยเฉพาะ “ภาคอีสาน และภาคเหนือ” เป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อ หลากหลาย “ภาคกลาง” เริ่มมีสำนักความเชื่อไสยศาสตร์มากขึ้น แต่ถูกควบคุมด้วยหน่วยรัฐ ทำให้รับรู้กันเฉพาะกลุ่ม “ภาคใต้” ก็มีเป็นอีกแบบ ส่วนกลุ่มนับถืออย่างแรงกล้าเป็น “ผู้สูงอายุมีทุกข์เจ็บป่วย” แล้วเคยได้รับประสบการณ์บำบัดจากเรื่องร้ายคลี่คลายเป็นดี

ย้ำ แม้ว่า “บ้านเมืองเจริญไปไกลเพียงใด” ตราบใดที่เราไม่เชื่อมั่นในตัวเอง “ความเชื่อ และความศรัทธา” จึงยังเป็นที่พึ่งยามชีวิตลำบาก ที่คอยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนไทยอยู่คู่กันตลอดไป

สุดท้ายความเชื่อเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถห้ามกันได้ แต่ควรเชื่ออย่างมีสติโดยไม่เป็นอันตรายต่อตนเอง และคนรอบข้างต้องไม่เดือดร้อนไปด้วย...