ตลาดเมล่อนยังเปิดกว้างสำหรับผลผลิตเกรดพรีเมียม แต่เกษตรกรมักต้องติดกับดักในเรื่องของโรงเรือน ที่ต้องเจียดเงินหลายหมื่นบาท และหากจะก้าวขึ้นมาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ยังมีค่าระบบต่างๆอีกมากมาย
ไหนจะค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าวัสดุปลูก บริหารจัดการ รวมๆแล้ว ก็หลักแสนต่อ 1 โรงเรือน ยังไม่รวมองค์ความรู้ ที่แม้จะหาได้ไม่ยากจากสื่อโซเชียล แต่สิ่งสำคัญคือ ความเสี่ยงจากการไร้ประสบการณ์
แต่ขณะนี้นับเป็นข่าวดีของพี่น้องเกษตรกรสุพรรณบุรี เมื่อหนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ภายใต้โครงการ หอมขจรฟาร์ม แปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะปลอดสารเคมี เนรมิตพื้นที่กว่า 50 ไร่ ของมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรแนวใหม่ นำความรู้จากงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง จ.สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
หนึ่งในนั้น โรงเรือนปลูกเมล่อนอัจฉริยะ ที่เขาลงทุนทุกอย่าง ทั้งสร้างโรงเรือน และระบบสมาร์ทฟาร์มมิง ต่างๆครบครัน ให้เกษตรกรก่อน พร้อมกับให้องค์ความรู้ในการปลูก ดูแล บำรุงรักษา อย่างใกล้ชิด และรับซื้อผลผลิตคืนในราคา กก.ละ 60 บาท
โดยให้เกษตรกรผ่อนชำระตามข้อตกลง นั่นหมายความว่า เกษตรกรไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำอะไรเลย ไม่ต้องจัดหาหรือกังวลเรื่องการเตรียมตัว การหาเมล็ดพันธุ์ที่ดี ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาเรื่องการตลาด ได้รับองค์ความรู้เต็มๆจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แถมไม่นานโรงเรือนก็จะกลายเป็นของเกษตรกรเอง
ปัจจุบันโรงเรือนขนาด 6×12 เมตร ปลูกเมล่อนได้ 180 ต้น มีเกษตรกรเป็นเจ้าของแล้ว 4 ราย รายละ 1 โรงเรือน 1 ปี สามารถปลูกได้อย่างน้อย 3 ครอป สร้างรายได้เฉลี่ยครอปละ 18,000 บาท หากชำนาญแล้วก็สามารถปลูกได้ทั้งปี
...
ช่วงหน้าฝนที่เมล่อนไม่ค่อยชอบก็หันไปปลูกมะเขือเทศที่ราคาดีช่วงนี้ได้ ดีไม่ดีปลูกผักสลัดคู่กันไปด้วยก็น่าจะสร้างรายได้ให้ไม่น้อย สนใจสอบถามได้ที่ 0-2244-5049 lind ID : @Homkhajorn หรือ เพจ : หอมขจรฟาร์ม.
สะ–เล–เต