การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยถึงสถานการณ์ยางพารา ไตรมาส 2/2565 ยังอยู่ในแนวบวกจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดยังน้อย และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

โดยปัจจัยที่มีผลต่อราคายางในช่วงไตรมาส 2 มาจากผลผลิตยางทั่วโลกในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. มีประมาณ 4.426 ล้านตัน และมีการใช้ยางประมาณ 4.523 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาดประมาณ 97,000 ตัน

สำหรับประเทศไทย ไตรมาส 2 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาด 0.763 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.37% เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ เม.ย. โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีฝนตกหนัก

ส่วนการส่งออกยางและสต๊อกยางในไตรมาส 2 คาดว่าจะมีการส่งออกยาง 0.994 ล้านตัน ลดลง 6.36% ในขณะที่สต๊อกยางของประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักผู้ซื้อยางจากไทย พบว่า ช่วงไตรมาสที่ 1 มีปริมาณยางในสต๊อกเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2564 แต่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนที่ผ่านมาได้ลดลงจากเดือนก่อน จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้เราส่งออกได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางคู้ค่าที่สำคัญของไทย ทั้งสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น ยังคงขยายตัว ดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ของประเทศเหล่านั้นยังคงขยายตัวอยู่เหนือระดับ 50 คืออยู่ที่ 59.20 55.50 และ 53.50 ตามลำดับ

ประกอบกับอุตสาหกรรมยางล้อได้เพิ่มการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะจีน, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มียอดผลิตและความต้องการเพิ่มขึ้น 10.2% 19.3% และ 13.1% ตามลำดับ ด้านอุตสาหกรรมยางล้อรถบรรทุก มียอดผลิตและความต้องการเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์ Covid-19 โดยจีน, อินเดีย และสหรัฐอเมริกา มีผลิตเพิ่มขึ้น 2.5% 16.9% และ 16.4% ตามลำดับ.

...

สะ-เล-เต