โควิดไทยดีวันดีคืนรับเปิดเทอมวันแรก ผู้ป่วยเสียชีวิตต่ำ 50 ศพ เป็นครั้งแรกในรอบปี ปลัด สธ. ย้ำไม่ได้บังคับตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน แต่ตรวจเมื่อมีความเสี่ยง พร้อมใช้แผนเผชิญเหตุหากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียน ขณะที่ ปลัด ศธ.รับห่วงโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กพักเที่ยงพร้อมกันจำนวนมาก หลังพบเด็กมักติดเชื้อระหว่างทานข้าว ส่วน “หมอธีระ” แนะ 5 ข้อการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ย้ำถึงเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย เมื่อไทยพบผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตยังสูงอันดับ 3 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ขณะที่เกาหลีเหนือส่ออาการหนัก หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งพรวด สัปดาห์เดียวทะลุ 1.2 ล้านคน ตายสะสมครึ่งร้อย

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในไทยดีวันดีคืน โดยเมื่อ วันที่ 16 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 5,238 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 5,236 คน ผู้ป่วย มาจากต่างประเทศ 2 คน ตรวจ ATK 3,445 คน รวมผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จำนวน 2,155,649 คน และสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,379,084 คน หายป่วยกลับบ้าน 9,168 คน หายป่วย สะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,282,767 คน ผู้ป่วย กำลังรักษา 66,805 คน เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,271 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 17 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 613 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 16.4

ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 40 คน อายุ 38-100 ปี เป็นชาย 21 คน หญิง 19 คน เป็นคนไทย 39 คน ชาวซีเรีย 1 คน เมื่อจำแนกตามอายุ เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 30 คน มีโรคเรื้อรัง 9 คน ไม่มีประวัติ โรคเรื้อรัง 1 คน เมื่อดูเป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ยังมีผู้เสียชีวิตมากสุดที่ 19 คน ขณะที่ภาคใต้ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต รวมผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จำนวน 7,814 คน ขณะที่ ผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,512 คน ส่วนการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ฉีดได้เพิ่ม 77,750 โดส รวมฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 135,671,274 โดส

...

สำหรับ 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ (RT-PCR) สูงสุด อันดับแรกยังคงได้แก่ กทม. 1,750 คน ตามด้วยสุรินทร์ 282 คน บุรีรัมย์ 197 คน ขอนแก่น 172 คน ชลบุรี 142 คน อุบลราชธานี 139 คน ร้อยเอ็ด 120 คน สมุทรปราการ 119 คน นครราชสีมา 111 คน และพระนครศรีอยุธยา 89 คน

วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 521 ล้านคนแล้ว เสียชีวิต รวม 6.2 ล้านคน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิตาลี และเกาหลีใต้ สถาน การณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer พบว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิต สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา จนทำให้ จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม โดยคิดเป็น ร้อยละ 27.27 ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของ ทวีปเอเชีย จำนวนเสียชีวิตรายวันต่อประชากรล้านคน ของไทยเรานั้น ยังมีอัตราเฉลี่ยรอบสัปดาห์ ที่สูงกว่า ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและทวีปเอเชีย อัตราการเสียชีวิต ส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess mortality rate) เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้ามีการระบาด จะพบว่ายังสูงถึงร้อยละ 21

รศ.นพ.ธีระระบุต่อว่า การอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 คือ 1.ควรอยู่อย่างรู้เท่าทัน ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตนเองและครอบครัวมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต 2.ประเมินความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เลือกรับความเสี่ยงที่อยู่ในวิสัยที่ตนเองรับได้และจัดการได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคม 3.ไม่หลงงมงาย แสร้งว่าสงครามโรคจบแล้ว ทั้งที่ไม่จบ 4.ไม่ว่าพื้นที่ใด ที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลให้มีการระบาดที่รุนแรง ยาวนาน กระจายทั่วไปจนจับต้นชนปลาย หาต้นเหตุได้ยากนั้น สะท้อนถึงการที่พื้นที่ต่างๆเป็นแดนดงโรค เป็นพื้นที่โรคชุกชุม ประจำถิ่นไปโดยปริยายแล้ว หาทางกำจัดออกไปได้ยาก 5.โรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย ไม่รุนแรง หรือกลายเป็นหวัดธรรมดา มีมากมายหลายโรคที่ ประจำถิ่นทั่วโลก แต่ทำให้ป่วยหนัก เสียชีวิตได้มาก แนะนำว่าการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญในการประคับประคองให้อยู่รอด ลดความ เสี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวัน จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะดีขึ้น

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวช ศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับวัคซีนการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีน mRNA ตามหลังวัคซีนแบบเชื้อตาย ได้ผลดีมาก มีรายงานการศึกษามาสนับสนุนการศึกษาของเราเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นรายงานล่าสุด
ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communication โดยนักวิจัยชาวสวีเดน ที่ทำการศึกษาร่วมในหลายประเทศ และใช้ตัวอย่างน้อยกว่าเราเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการศึกษาอีกหลายแห่งได้ผลเช่นเดียวกัน เป็นการยืนยันซึ่งกันและกัน จากรายงานของเราที่รวบรวมและอยู่ระหว่างการพิจารณาลงพิมพ์ในวารสาร ได้ผลดีกับสายพันธุ์โอมิครอนด้วย

...

นพ.ยงระบุอีกว่า จากข้อมูลจะเห็นได้ชัดเจนว่าการให้วัคซีนเบื้องต้นเป็นเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และเข็มสามกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ที่ 5 ถึง 7 เดือน หลังเข็ม 2 ได้ผลไม่แตกต่างกันกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3 เข็ม การให้วัคซีนต่างชนิดกันจะไปช่วยเสริมกัน และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการกระตุ้นในระบบ T เซลล์ ได้ผลแบบเดียวกัน เท่าเทียมกันกับคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน แล้วกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA (ข้อมูลการศึกษาในสวีเดน) ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเสียโอกาสนี้ไปมาก อย่างไรก็ตาม การให้ในเด็กเราก็เชื่อว่าได้ผลแบบเดียวกัน

ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากการติดตามสายพันธุ์โควิด-19 ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ซึ่งมีการประมวลผลทุกสัปดาห์ ส่วนใหญ่รับตัวอย่างเชื้อโควิด-19 จากโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดรับมาบางส่วน รวมสัปดาห์ละประมาณ 100 ตัวอย่าง ล่าสุดยังไม่พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 ในไทย และศูนย์ยังมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนการเปิดเทอมใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 17 พ.ค.นี้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความพร้อมว่า ศธ.ได้เตรียมความพร้อมรับเปิดเทอมที่ 1 ไว้พร้อมแล้ว โดยมีโรงเรียนที่ผ่านการประเมิน Thai Stop Covid เพื่อขอเปิดเรียนแบบ On Site ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ไม่ผ่านการประเมินขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับครู ขณะนี้ฉีดเข็มที่ 2 เกือบครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และมีบางส่วนที่กำลังทยอยฉีดเข็มที่ 3 และ 4 ส่วนนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปี ไม่น่าห่วงอะไรคนที่ผู้ปกครองอนุญาตให้ฉีดได้ทยอยฉีดเข็มที่ 2 เกือบครบแล้ว คาดว่าหลังเปิดเทอมไม่นานจะครบทั้งหมด แต่สิ่งที่ตนกังวลคือกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ขณะนี้เพิ่งฉีดเข็มที่ 1 ได้ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ฉีด ได้น้อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเริ่มฉีดในช่วงปิดเทอมพอดี แต่หลังเปิดเทอมแล้วเข้าใจว่าทุกอย่างน่าจะรวดเร็วขึ้น

...

ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า เรื่องที่เป็นห่วงก็คือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเด็กมากกว่า 2,000 คน เวลาทานข้าวจะต้องบริหารจำนวนนักเรียนเป็นรอบๆให้ดี เว้นระยะห่างตามมาตรการ เด็กต้องไม่แออัดจนเกินไป เนื่องจากเวลาทานทุกคนต้องเปิดหน้ากาก ดังนั้น จึงต้องกำชับเด็กไม่ให้มีการพูดคุยกันระหว่างทาน เพราะข้อมูลที่ได้รับรายงานในช่วงที่ผ่านมา เด็กมักติดเชื้อระหว่างการทานข้าว ดังนั้นจึงต้องมีการกำชับเรื่องนี้เป็นพิเศษ การล้างมือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และมาตรการ 6-6-7 ยังถือเป็นเรื่องที่ทุกโรงเรียนจะต้องตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เปิดเทอมสัปดาห์แรกเข้มงวดดูแลกันเต็มที่ แต่พอผ่านไปกลับกลายเป็นความเคยชิน และหละหลวม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกโรงเรียนต้องเตือนตัวเองและเน้นย้ำกับเด็กๆ ตลอดเวลา

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ในวันที่ 17 พ.ค. มีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงมีกิจกรรมการรวมตัวทั้งผู้ปกครองและนักเรียนก่อนเปิดเรียน หากไม่ได้มีการป้องกันตนเองอย่างเต็มที่อาจทำให้มีการติดเชื้อและแพร่เชื้อระหว่างกันได้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ และเมื่อเปิดภาคเรียนแบบปกติอาจเกิดการแพร่เชื้อภายในโรงเรียนจำนวนมากได้ ดังนั้นก่อนกลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนตามปกติขอให้ผู้ปกครอง นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน กรณีมีความเสี่ยงหรือมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทันที

...

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าไม่มีมาตรการบังคับตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน และไม่ได้กำหนดให้ต้องตรวจเป็นประจำทุก 3-5 วัน หรือทุกสัปดาห์ แต่ขอให้ตรวจเมื่อมีความเสี่ยงหรือเมื่อมีอาการ เบื้องต้น แนะนำให้ป้องกันตนเองตลอดเวลา โดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตรวจคัดกรอง ลดความแออัด และทำความสะอาด รวมถึงเข้ารับวัคซีนให้ครบ โดยกลุ่มเด็กมัธยมศึกษา อายุ 12-18 ปี ควรรับเข็มกระตุ้น และกลุ่มเด็กประถมศึกษา อายุ 5-11 ปี ควรรับวัคซีนเข็มปกติให้ครบ จะช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ทั้งนี้ หากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนเหมือนที่ผ่านมา

วันเดียวกัน สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ สื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ สั่งให้กองทัพเข้าไปจัดการเกี่ยวกับการกระจายยารักษาโรค ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของประเทศ โดยรายงานระบุว่า นายคิมกล่าวในที่ประชุมโปลิตบูโรว่า ยารักษาโรคที่รัฐบาลจัดหามานั้น ไม่ได้ถูกส่งถึงประชาชนอย่างถูกที่ถูกเวลา นอกจากนี้ ยังสั่งการให้หน่วยแพทย์ของกองทัพเข้าไปช่วยกระจายยารักษาโรคไปยังส่วนต่างๆ ในกรุงเปียงยาง ในขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่ายอดผู้ป่วยในเกาหลีเหนือพุ่งสูงทะลุ 1 ล้านคนไปแล้ว หลังจากเกาหลีเหนือประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เคซีเอ็นเอรายงานยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอีก 392,920 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 8 คน ส่งผลให้ล่าสุดยอดผู้ป่วยในเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 1,213,550 คน ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน ส่วนทางการจีนประกาศจะผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ในนครเซี่ยงไฮ้ ให้คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในวันที่ 1 มิ.ย.นี้