“อนามัยโพล” ชี้ผู้ปกครองไม่พาเด็กไปฉีด วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพราะกังวลอาการ ไม่พึงประสงค์รุนแรง อธิบดีกรมอนามัยได้แต่วอนขอให้มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน ควรพาไปฉีดรับการเปิดเรียนตามปกติ ขณะเดียวกันมีผลวิจัยทั้งจากในและนอกประเทศชี้ตรงกัน วัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันโอมิครอนดีกว่าไฟเซอร์ นักไวรัสวิทยาไบโอเทคแนะเป็นทางเลือก ในผู้สูงวัยและต้องการลดผลข้างเคียง ด้าน “หมอธีระ” เผยข้อมูลจาก ECDC ภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็ก อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 มากกว่า แนะครู ผู้ปกครองต้องช่วยกันตรวจตราดูแลเด็ก หลัง เปิดเทอมใหญ่ลดความเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ
ภาพรวมผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในไทยลดลงต่อเนื่อง โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,094 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,087 คน มาจากเรือนจำ 5 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 คน ขณะที่ผลตรวจ ATK 4,356 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,601 คน อยู่ระหว่างรักษา 70,775 คน อาการหนัก 1,304 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 643 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 51 คน อายุ 1-100 ปี เป็นชาย 34 คน หญิง 17 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 42 คน มีโรคเรื้อรัง 9 คน นอกจากนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 51 คน มีถึง 22 คน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในระลอกปี 2565 เขยิบไปอยู่ที่ 7,774 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,472 คน ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,373,846 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,273,599 คน ฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ได้เพิ่ม 70,548 โดส รวมฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 135,590,107 โดส
...
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,125 คน สุรินทร์ 275 คน บุรีรัมย์ 201 คน สมุทรปราการ 172 คน ขอนแก่น 167 คน ชลบุรี 158 คน อุบลราชธานี 147 คน มหาสารคาม 139 คน ร้อยเอ็ด 118 คน และนครราชสีมา 99 คน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 7 จังหวัด ขณะเดียวกันมี 11 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อ ใหม่ลดเหลือเลขตัวเดียว ได้แก่ ตรัง 4 คน พังงา 3 คน ยะลา 4 คน ระนองและสตูล จังหวัดละ 7 คน ตาก 8 คน ชัยนาท 3 คน เชียงราย 6 คน แพร่ 6 คน แม่ฮ่องสอน 5 คน มุกดาหาร 9 คน และไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มใน 2 จังหวัดคือ ลำปางและลำพูน
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงของการเปิดภาคเรียนแบบปกติทุกชั้นเรียน เด็กควรได้รับวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ แต่จากผลการสำรวจอนามัยโพลเรื่อง “ความมั่นใจของผู้ปกครองต่อการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี” วันที่ 22 เม.ย. ถึงวันที่ 11 พ.ค.2565 พบว่า ขณะนี้เด็กอายุ 5-11 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว และจะฉีดให้ครบ ร้อยละ 54.1 และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย ร้อยละ 28.7 โดยเหตุผลที่ทำให้กลุ่มผู้ปกครองไม่พาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนคือ ยังมีความกังวลว่าเด็กอาจมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ร้อยละ 77.2 และไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน ร้อยละ 55.3 รวมทั้งกังวลว่าเด็กที่ไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว อาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากวัคซีน ร้อยละ 37
นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตในเด็กได้ รวมทั้งการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียน จึงขอให้ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน โดยการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนในเด็ก ควรให้เด็กกินอาหาร หากเด็กมีอาการป่วย มีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายเป็นปกติก่อน และสำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวรุนแรง อาการยังไม่คงที่ ควรเข้ารับการประเมินอาการจากแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีด อาการที่พบได้หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์คือ ปวด บวม แดง เฉพาะที่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นไข้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้เองเมื่อกินยาลดไข้และพักผ่อนให้เพียงพอ หลังฉีดวัคซีน 1 สัปดาห์
วันเดียวกัน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า ผลวิจัยที่ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ร่วมกับทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี สวทช. พบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อกับใต้ผิวหนัง ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา (AZ) มา 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอนได้ดีทั้งคู่ โดยกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะได้ภูมิที่สูงกว่ากลุ่มใต้ผิวหนัง ประมาณ 3 เท่าในกรณีที่ฉีดกระตุ้นด้วยโมเดอร์นา และประมาณ 1.5 เท่าในกรณีที่ฉีดกระตุ้นด้วยไฟเซอร์
ดร.อนันต์ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนจะสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่ใช้ โดยโมเดอร์นาฉีดเข้ากล้ามมากกว่าผิวหนัง 5 เท่า (100 vs 20 mcg) ขณะที่ไฟเซอร์ฉีดเข้ากล้ามมากกว่าผิวหนัง 3 เท่า (30 vs 10 mcg) ผลข้างเคียงจากการฉีดใต้ผิวหนังดูเหมือนจะน้อยกว่าตามคาด ซึ่งทีมวิจัยสรุปว่าการฉีดใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะด้วยโมเดอร์นาอาจเป็นทางเลือกให้พิจารณาในกรณีที่มีวัคซีนจำกัด และต้องการลดผลข้างเคียงจากวัคซีน
ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ทั่วโลกติดเชื้อไปแล้ว 520,816,961 คน เสียชีวิตรวม 6,287,570 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี ส่วนไทยการติดเชื้อใหม่ รวมผลตรวจ ATK แล้ว สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 7 ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น Poh XY และคณะจากประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์โรคติดเชื้อ Clinical Infectious Diseases เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 สาระสำคัญคือคนสูงอายุที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มมาแล้ว การฉีดเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ด้วยวัคซีนโมเดอร์นาจะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ โดยใช้ขนาด ครึ่งหนึ่งของโดสปกติ คือ 50 ไมโครกรัม (ปกติ 100 ไมโครกรัม)
...
รศ.นพ.ธีระระบุต่อว่า ส่วนเรื่องภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กข้อมูลวันที่ 13 พ.ค.2565 จาก ECDC มีสาระสำคัญคือมีจำนวนเคสตับอักเสบรุนแรงถึง 232 คน ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี โดยมีถึงร้อยละ 76 ที่เป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 15 ต้องนอนรักษาตัวในไอซียู ร้อยละ 6 ต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนตับ เสียชีวิต 1 คน จากการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่า ร้อยละ 60 ที่ตรวจ พบหลักฐานว่าติดเชื้อ Adenovirus แต่มีถึงร้อยละ 74 ที่ตรวจเลือด (serology) พบว่าเคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 มาก่อน และมีร้อยละ 12 ที่ตรวจ RT-PCR ได้ผลบวก
รศ.นพ.ธีระระบุอีกว่า ข้อมูลที่มีจนถึงปัจจุบัน จึงมีแนวโน้มว่า ภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กอาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 มากกว่า ซึ่งคงต้องมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์กันต่อไปว่าหากสัมพันธ์จริงจะเกิดจากกลไกพยาธิกำเนิดอย่างไร ทั้งนี้ มีการเสนอสมมติฐานที่เป็นไปได้ว่าการที่เด็กเล็กติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน อาจทำให้มีเชื้อคงค้างระยะยาวในทางเดินอาหาร และการติดเชื้อระยะยาวนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันซ้ำๆ โดยมีบางส่วนของเปลือกไวรัสโรคโควิด-19 ที่คล้ายพิษจากแบคทีเรีย Staphyllococcalenterotoxin-B ซึ่งทำให้เกิดภูมิต้านทานระดับเซลล์ที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่างๆหลายระบบของร่างกาย เชื่อว่าเป็นกลไกพยาธิกำเนิดของ MIS-C ในเด็กเล็ก รวมถึงเกิดตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กด้วย ซึ่งประการหลังนี้อาจมีกลไกเกี่ยวข้องร่วมกับการติดเชื้อ Adenovirus ร่วมด้วยก็เป็นได้ สัปดาห์หน้าไทยเราจะมีการเปิดเรียนในสถานศึกษาระดับต่างๆ คุณครูและผู้ปกครองคงต้องช่วยกันสอนเด็กๆให้รู้จักป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ และช่วยกันตรวจตราดูแล ออกแบบระบบการเรียนที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ การใส่หน้ากาก เปิดหน้าต่างระบายอากาศ หมั่นล้างมือ และสังเกตและถามไถ่อาการไม่สบายของเด็กๆเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
...
ขณะที่ในจังหวัดต่างๆผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดวัน ยังจัดฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนรับวันเปิดเทอม 17 พ.ค.นี้ โดยที่ห้างบิ๊กซีสาขาสตูล ต.คลองขุด อ.เมืองสตูล รพ.สตูล นำบุคลากรมาฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ตั้งแต่อายุ 5-11 ปี และ 12-17 ปี ซึ่งมีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากมีผู้ปกครองจำนวนมากพาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาส้ม) กันตั้งแต่เช้า ทั้งนี้ภาพรวมการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนใน จ.สตูล นักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 90 รอฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ส่วนนักเรียนอายุระหว่าง 5-11 ปี ฉีดไปแล้วประมาณร้อยละ 50 ส่วนคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉีดวัคซีนแล้วกว่าร้อยละ 90 และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักเรียนตั้งแต่อายุ 5-11 ปี และ 12-17 ปี ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ครบทุกคน
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศจีน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ารัฐบาลจีนประกาศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในนครเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.เป็นต้นไป หลังบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมานานกว่า 6 สัปดาห์ โดยอนุญาตให้เปิดบริการห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกตได้ตามปกติ แต่การซื้อจะต้องเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ขณะที่ร้านทำผม ตลาดขายผัก ให้เปิดแบบจำกัดจำนวน คำสั่งครั้งนี้มีขึ้นหลังอัตราการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการลดลงเหลือประมาณ 1,200 คนต่อวัน ติดเชื้อแบบแสดงอาการลดเหลือราว 160 คนต่อวัน และไม่พบการติดเชื้อนอกเขตที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่กักบริเวณ ซึ่งทางการจีนเผยด้วยว่า มาตรการผ่อนคลายลำดับต่อไปคือการเปิดบริษัทนำเข้าส่งออกกว่า 820 แห่ง แต่ยังไม่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน
...