ไทยผู้นำภาคป่าไม้ภูมิภาค ลดก๊าซเรือนกระจก...ลดโลกร้อน! คือความท้าทายของประเทศไทย
ในปี 2559 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากภาคพลังงาน ภาคการเกษตร ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสีย ขณะที่ป่าไม้และการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ ราว 91 ล้านตันคาร์บอนฯ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยอยู่ที่ 263 ล้านตันคาร์บอนฯ
แน่นอน หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากผลกระทบจากโลกร้อนอย่างไม่มีสิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ประเทศไทย โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเอเปกด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในเดือน ส.ค.2565 ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำภาคการป่าไม้ของภูมิภาค ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 ผ่านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
...
“ปัจจุบัน ทิศทางการพัฒนาของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากเวที World Economic Forum 2022 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ได้เปิดเผยรายงานความเสี่ยงโลก ประจำปี ค.ศ.2022 ระบุว่า นอกจากโควิด-19 แล้ว ภาวะโลกร้อน ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน และการสูญเสียความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยา ยังเป็น 3 ความเสี่ยงที่สำคัญ โดยหลายประเทศได้เริ่มใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier : NTB) ด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นมาตรฐานในการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของ EU ที่เป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสินค้านำเข้าจากประเทศที่ไม่มีระเบียบควบคุมการปล่อยคาร์บอน หรือมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตคาดว่าอีกหลายประเทศจะนำมาตรการ NTB มาใช้มากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อรับ มือกับแนวโน้มของโลกที่กำลังเปลี่ยน แปลงไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.กล่าวถึงสภาพการณ์ประเทศ ไทยกำลังเผชิญอยู่
ขณะที่ รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความมุ่งมั่นต่อที่ประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่จะยกระดับการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง
โดยเฉพาะด้านป่าไม้ที่ดิน จะมีการป้องกันการบุกรุกที่ป่าเพิ่ม เพิ่มพื้นที่สีเขียว 55% เป็นที่ป่า 40% แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจ 15% เป็นต้น
...
“ทส.ได้เร่งผลักดันพัฒนาข้อกฎหมายในหลายๆด้านให้สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การเร่งผลักดันการจัดตั้งตลาดซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อนำมาใช้ควบคุมปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และคมนาคม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์และขยายพื้นที่ป่าผ่านโครงการต่างๆ เช่น การจัดตั้งป่าชุมชน การจัดสรรที่ดินทำกินผ่านนโยบาย คทช. ให้สิทธิทำกินแก่ประชาชนภายใต้เงื่อนไขการปลูกป่าและรักษาผืนป่าใกล้ผืนที่ดินทำกิน” นายวราวุธ ระบุ
นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER โดยองค์กรภาคเอกชนที่เข้าร่วมปลูกป่าในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้การรับรอง สามารถนำไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศ หรือนำไปใช้ในกิจกรรมการชดเชยคาร์บอน การแลกเปลี่ยนคาร์ บอนเครดิต หรือใช้ในการรายงานตัวชี้วัดดัชนีด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจได้ เป็นต้น พร้อมกันนี้ ได้เตรียมจัด การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ระหว่างวันที่ 5-6 ส.ค. 2565 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งถือเป็น หมุดหลักสำคัญของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของประเทศไทย และเป็นการตอกย้ำต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
...
“การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศจะมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย หรือ NDC Roadmap และยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของสังคมไทย การ รักษาสิ่งแวดล้อม จึงไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะสร้างมูลค่าและรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคตให้
กับพี่น้องคนไทย” นายวราวุธ กล่าว
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” เห็นด้วยกับการดำเนินการของ ทส. เพราะ ณ วันนี้ ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ถนนสายเดียวกันคือการแก้ไขวิกฤติ “โลกร้อน”
แต่สิ่งที่เราห่วงและต้องขอฝากไว้คือ แม้ประเทศไทยจะมีการลงนามและให้สัตยาบันกับนานาประเทศในการลดโลกร้อน แต่หลายนโยบายกลับดำเนินการตรงกันข้าม และนั่นคือปัญหา
ถ้าจะลดโลกร้อนให้ได้ตามเป้า คงต้องจริงใจและจริงจังในการนำนโยบายต่างๆสู่การปฏิบัติให้มากกว่าที่ผ่านมา.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม