สมาคม รพ.เอกชน ยังรอความชัดเจนการเบิกค่ารักษาผู้ป่วยโควิด-19 หากรัฐบาลปรับเป็นโรคประจำถิ่น รวมถึงการรักษาอาการ “ลอง โควิด” อาจต้องรอ ศบค.พิจารณาให้สะเด็ดน้ำ โดย 3 หน่วยงาน “สปสช.-สปส.-กรมบัญชีกลาง” ยังไม่เคาะการใช้สิทธิเบิกค่ารักษา อาจจ่อให้คง UCEP Plus กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง/แดงไว้ก่อน ขณะที่ยอดติดเชื้อใหม่แม้ทรงตัว แต่อัตราผู้ป่วยตายยังสูง ล่าสุดคร่าทารกวัย 8 เดือน เชียงรายเจอคลัสเตอร์ใหม่ติดยกวัด ส่วนสัปดาห์แรกหลังเปิดประเทศ จังหวัดริมโขงเฮ เมื่อรัฐบาล สปป.ลาว ประกาศเปิดทุกด่านสากลตามไทย มีผลตั้งแต่ 9 พ.ค.นี้ รองรับ คน-รถยนต์เข้าออกประเทศได้ แต่มีเงื่อนไขหากติดโควิดต้องจ่ายค่ารักษาเอง
หลังไทยเปิดประเทศมาครบสัปดาห์ และกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) จากโรคติดต่ออันตราย ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลกมาเป็นโรคประจำถิ่น ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย แม้มีแนวโน้มลดลงแบบทรงตัว แต่อัตราผู้ป่วยเสียชีวิตยังสูง
โควิดคร่าทารก 8 เดือน
...
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,081 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,062 คน มาจากเรือนจำ 15 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 คน ขณะที่ยอดตรวจ ATK 10,055 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,588 คน อยู่ระหว่างรักษา 91,279 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 54 คน อายุ 8 เดือน-95 ปี เป็นชาย 44 คน หญิง 10 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ป่วยอายุ 60 ปี และมีโรคเรื้อรัง รวมร้อยละ 98 แบ่งเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 43 คน คิดเป็นร้อยละ 80 และมีอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง 10 คน คิดเป็นร้อยละ 18 เมื่อดูเป็นรายภาค ปรากฏว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีผู้เสียชีวิตรวมมากสุดคือ 25 คน
ลำพูน-ลำปาง ไร้ผู้ติดเชื้อ
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับแรกยังเป็น กทม.2,176 คน ตามด้วยบุรีรัมย์ 274 คน ชลบุรี 271 คน สมุทรปราการ 243 คน ขอนแก่น 241 คน อุบลราชธานี 216 คน ร้อยเอ็ด 212 คน มหาสารคาม 181 คน นนทบุรี 172 คน และฉะเชิงเทรา 164 คน ส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเป็นเลขหลักเดียวมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ กระบี่ 6 คน ตรัง 6 คน นราธิวาส 7 คน สตูล 6 คน ชัยนาท 5 คน เชียงราย 3 คน โดยมี จ.ลำพูน และลำปาง ผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์ ทำให้ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,324,850 คน ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,204,483 คน และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,088 คน ขณะที่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ฉีดวัคซีนได้เพิ่ม 252,469 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 ทั้งสิ้น 134,653,094 โดส
ปลื้ม WHO ยกไทยต้นแบบสู้โควิด
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ชื่นชมและขอบคุณทุกภาคส่วนและประชาชนที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ของโลก ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากการที่ไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด-19 มีความยืดหยุ่นปรับตัวไปตามสถาน การณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง แต่ขออย่าเพิ่งประมาทยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ไทยกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว
รอ 3 กองทุนเคาะการใช้สิทธิ
วันเดียวกัน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ประเด็นประเทศไทยเตรียมโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่จะต้องติดตามอีกสักระยะ และพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่าผู้ติดเชื้อที่ลดลงนั้นเป็นเพราะไม่ได้ตรวจหรือลดลงจริง รวมถึงผู้เสียชีวิตที่ลดลงเป็นเพราะมีการแยกผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ออกจากผู้เสียชีวิตที่มีการติดโควิด-19 ร่วมด้วย ซึ่งตามเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 8,000 คนต่อวัน ดังนั้น จะต้องมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 8 คนต่อวัน แต่ขณะนี้ยังมีประมาณ 50 คนต่อวัน ขณะที่ระบบบริการที่รัฐต้องเตรียมความพร้อม คือการให้บริการรักษาฟรีในระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม จะให้สิทธิแบบไหน คณะกรรมการแต่ละกองทุนต้องรีบพิจารณาวางแนวทางและประกาศออกมาให้ชัดเจน
...
แนะคง UCEP Plus ไว้ก่อน
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าหลักการของ สปสช.ซึ่งดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือประชาชนต้องได้รับบริการเมื่อโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น อาจมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด นอนพัก 1-2 วัน หรือรับประทานยา 1-2 วัน แล้วหาย กับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นแล้วมีอาการรุนแรง จะต้องมีการพิจารณาเรื่องของการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Group: DRG) ที่จะอ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องคิดคำนวณและหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่เหมาะสม โดยทิศทางจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ 1.องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างไรมีโอกาสที่จะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นอีกได้หรือไม่ 2.ระดับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร จะให้เป็นบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐหรือไม่อย่างไร และ 3.กฎหมายและการกำกับติดตาม ซึ่งเป็นข้อจำกัด เนื่องจากทั้ง 3 กองทุนถือกฎหมายคนละฉบับ แต่พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ระบบบริการเดินหน้าได้ ส่วนตัวเห็นว่า UCEP Plus ยังเป็นทิศทางที่น่าจะประคองไว้เพราะเป็นการรักษาชีวิตคน
สปส.มั่นใจดูแลผู้ป่วยได้
ขณะที่นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 สปส.มีการปรับตัวอย่างมาก และประเมินตนเองว่าทำได้ค่อนข้างดี เช่น มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในทุกสถานประกอบการ การฉีดวัคซีน และโครงการโรงงานแซนด์บ็อกซ์ เป็นต้น หากมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เบื้องต้นหลักประกันสังคมจะดูแลตามสิทธิเดิมใน รพ.คู่สัญญาหลักที่สามารถเข้าไปรับการรักษาได้ ส่วนเรื่องยาและอื่นๆ ให้ความมั่นใจและรับประกันว่าสามารถดูแลตรงส่วนนี้ได้แน่นอน ส่วนจะรวมยารักษาโควิด-19 เข้าไปในสิทธิประกันสังคมได้หรือไม่ เรื่องนี้คณะกรรมการการแพทย์กำลังหารืออยู่
...
ขอรอ ศบค.พิจารณา
สำหรับการใช้สิทธิของข้าราชการและเจ้าพนักงานของรัฐนั้น นายรชตะ อุ่นสุข นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ถ้าประกาศเป็นโรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญคือ UCEP Plus จะอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องกำหนดเรื่องนี้ โดยจะต้องหารือในคณะกรรมการสถานพยาบาลและดูสถานการณ์ของ ศบค.ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะยังคงให้ดำเนินการเรื่อง UCEP Plus ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและแดงไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ปีหน้า ส่วนผู้ป่วยสีเขียว ควรกลับเข้าสู่ระบบปกติ แต่หากรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ต้องจ่ายเงินเอง
บัตรทองคลุมรักษาลองโควิด
ส่วนกรณีกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วมีอาการลอง โควิดเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษานั้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช.กล่าวว่า หลักการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จะครอบคลุมการรักษาทุกโรคอยู่แล้ว ขึ้นกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เบื้องต้นอาการลอง โควิด จะมีสภาพต่างๆ เช่น ปวดหัว เป็นไข้ อ่อนเพลีย โดยหลักการแล้วมั่นใจผู้มีสิทธิบัตรทองจะครอบคลุมการรักษาดังกล่าวได้ แต่ต้องขึ้นกับการนิยามอาการลอง โควิด ของกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ด้วย บางอาการดูเหมือนเป็นอาการใหม่ ที่งบประมาณที่มีอยู่อาจไม่ครอบคลุม หรือไม่เคยมีการตั้งงบประมาณไว้ อาจทำให้ รพ.หรือผู้ให้การรักษาเกิดข้อกังวลว่าจะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน สปสช.อาจจะต้องตั้งงบประมาณและกำหนดให้ชัดเจนว่า เป็นงบสำหรับการรักษาอาการลอง โควิด ซึ่ง สปสช.เคยดำเนินการแล้ว ในกรณีตั้งงบประมาณสำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ เพราะ สปสช.จะติดตามสถานการณ์และปรับปรุงเกณฑ์ให้เหมาะสมเพื่อดูแลประชาชนอยู่แล้ว
...
หนองคายให้รถข้ามไปลาว
สำหรับการเปิดประเทศที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่นอกจากปรับหลักเกณฑ์สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศให้สะดวกขึ้นแล้ว ยังมีการเปิดด่านพรมแดนถาวรทางบก 17 จังหวัด ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ว่า นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.หนองคาย ได้ลงนามในประกาศจังหวัดหนองคาย เรื่องเปิดจุดผ่านแดนถาวร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศทางบก จังหวัดหนองคายและยกเลิกประกาศการระงับการเดินทางเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย และด่านตรวจคนเข้าเมืองสถานีรถไฟหนองคาย มีผลตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2565 เป็นต้นไป หลังจากมีการปิดด่านระงับการเดินทางตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2563
9 พ.ค.ลาวเปิดทุกด่านสากล
ขณะเดียวกัน รัฐบาล สปป.ลาว ได้เห็นชอบให้มีการเปิดด่านสากลทุกด่าน มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2565 สำหรับพลเมืองลาว คนต่างด้าว คนต่างประเทศ และคนไม่มีสัญชาติ อนุญาตให้พลเมืองของบรรดาประเทศที่มีสัญญายกเว้นวีซ่ากับ สปป.ลาว สามารถเดินทางเข้า สปป.ลาวได้โดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า ส่วนพลเมืองของประเทศที่ไม่มีสัญญายกเว้นวีซ่า ต้องขอวีซ่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่ไม่มีใบรับรองการฉีดวัคซีนครบโดส ให้ตรวจ ATK ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง เมื่อถึง สปป.ลาวแล้วจะไม่มีการตรวจโควิด-19 ทุกช่องทางการเข้าประเทศ ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสสามารถเดินทางเข้าออกได้ปกติ โดยไม่เรียกร้องให้มีการตรวจโควิด-19 ทั้งจากประเทศต้นทางและเมื่อถึง สปป.ลาว แต่หากเดินทางเข้า สปป.ลาวแล้วติดเชื้อโควิด-19 ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง และลาวอนุญาตให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าออกประเทศได้แล้วเช่นกัน
นครพนมพร้อมรับ นทท.จากลาว
ที่ จ.นครพนม หลัง สปป.ลาว ประกาศเปิดทุกด่านระหว่างประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 9 พ.ค.นี้ พ.ต.อ.สมเกียรติ สนใจ ผกก.ตม.นครพนม เปิดเผยว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ในการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งทางการไทย รวมถึงลาว ในการดูแลประชาชน นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางระหว่างประเทศ นครพนม-คำม่วน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ซึ่งด่านชายแดนนครพนมมีความพร้อมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 ตามประกาศของรัฐบาล
“เชียงของ-เชียงแสน” พร้อมเปิดด่าน
เช่นเดียวกับ จ.เชียงราย ที่มีด่านพรมแดนติด สปป.ลาว หลายจุด นายวิรุฬ สิทธิวงศ์ นายอำเภอ เชียงของ กล่าวว่า อำเภอมีความพร้อมที่จะเปิดด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ส่วนสาธารณสุขอำเภอเชียงของ ได้กำหนดมาตรการคัดกรองป้องกันโรคระบาดชายแดน มีการตรวจ ATK ผู้ผ่านเข้าด่านเชียงของ การเตรียม LQ ที่จะจัดโรงแรม 2 แห่งไว้รองรับในการกักตัว และ รพ.ชุมชนในการรักษาพยาบาล ต่างชาติที่ผ่านเข้ามาจะต้องซื้อประกัน 1,600 บาท มีวงเงินประกันขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ด่านเชียงของได้เสนอเปิดด่านในวันที่ 1 มิ.ย.กับทางเจ้าเมืองห้วยทราย ยังอยู่ในขั้นตอนที่จะไปหารือ แต่เมื่อ สปป.ลาว ประกาศเปิดเต็มรูปแบบแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับเมืองห้วยทราย หากต้องการเปิดเร็วกว่าวันที่ 1 มิ.ย.ทางอำเภอเชียงของก็มีความพร้อม ขณะที่ นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่า จุดผ่านแดนถาวรบ้านสบรวกที่อยู่ตรงข้ามเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ขณะนี้อำเภอเชียงแสนมีความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามด่าน ทั้งมาตรการควบคุมโรคติดต่อ โดยได้ประชุมหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและแจ้งให้กับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ ทั้งสถานประกอบการร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คาดว่าจะเปิดด่านได้วันที่ 1 มิ.ย.นี้
ญี่ปุ่น-มะกันเผยข้อมูลลอง โควิด
วันเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเผยผลการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยระยะยาวจากโควิด หรือลอง โควิด (Long Covid) ว่า พบผู้ป่วย ที่เคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ยังคงมีอาการโควิด ยาวต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 10 โดยมีอาการป่วยที่พบมากที่สุดคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก เซื่องซึม ประสิทธิภาพการดมกลิ่น-รับรู้รสชาติลดลง ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐอเมริกา สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน เรียกร้องให้มีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับอาการโควิดระยะยาวในเด็ก หลังพบว่า เด็กทั่วประเทศที่ติดเชื้อกว่า 13 ล้านคน มีสัดส่วนราวร้อยละ 10 หรือประมาณ 1.3 ล้านคน ที่มีอาการลอง โควิด นอกจากนี้ จากการแชร์ข้อมูลในรัฐต่างๆยังพบด้วยว่า เด็กส่วนมากจะมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีอาการป่วยหลายอย่างผสมกันเหมือนกับผู้ใหญ่ ทั้งมีกรณีน่าสงสัยที่ควรตรวจสอบแบบเจาะลึก คือเด็กจำนวนมากมีอาการป่วยเหนื่อยล้า สมองเบลอ แต่ผลการตรวจร่างกายกลับปกติ และทำให้แวดวงการแพทย์เสียงแตก มีกลุ่มที่มองว่าเป็นลอง โควิด กับกลุ่มที่มองว่าเป็นปัญหาทางสภาพจิต