ปัจจุบัน “กรุงเทพมหานคร” หรือ “กทม.” มีศูนย์บริการสาธารณสุขรวม 69 แห่ง มีบุคลากรทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ถือเป็นหน่วยบริการที่ค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว ทั้งยังมีการอบรมเพิ่มเติมในเรื่องแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อดูแลประชาชนในโรคที่พบบ่อย ไม่ซับซ้อน

เน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค นอกจากนี้ยังขยายคลินิกพิเศษต่างๆ เช่น คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกยาเสพติด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป้าหมายเพื่อช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล “โรงพยาบาล”...ก็สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น

พุ่งเป้าไปที่กลุ่มประชาชน “สิทธิบัตรทอง” ที่ต้องการเข้ามารับบริการ แม้จะไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำในพื้นที่นั้นๆ ก็สามารถถือ “บัตรประชาชน” มาเพียงใบเดียวไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ทุกที่ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสิทธิแล้วให้บริการได้เลย

ขณะเดียวกัน นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งแล้ว ในแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ยังมี “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ที่เป็น “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้เช่นกัน

...

โดยทางศูนย์บริการสาธารณสุขจะทำงานร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในลักษณะเครือข่าย คอยสนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นให้ดำเนินการไปได้ตามที่ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” กำหนด ตามสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ รวมทั้งมีบริการรับส่งต่อ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคลินิกชุมชนอบอุ่นไม่มีคลินิกพิเศษ อาทิ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรม ก็สามารถส่งต่อมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ อีกทั้งยังร่วมมือกันทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร อธิบายเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ที่รัฐบาลมอบแก่ประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ในส่วนของพื้นที่ กทม.มีการนำร่องมาตั้งแต่ปี 2564

...ให้ผู้ใช้ “สิทธิบัตรทอง” สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ในบางพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงแรกประชาชนยังยึดติดกับระบบเดิมและการประชาสัมพันธ์อาจยังไปไม่ถึงมากนัก แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจมาก เพราะสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้

“ลักษณะคน กทม. พักอาศัยอยู่พื้นที่หนึ่งแต่ไปทำงานอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่สะดวกไปรับบริการในหน่วยบริการใกล้ที่พัก ก็สามารถไปรับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้ที่ทำงานได้ ทำให้สะดวก สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น”

เนื่องจากในปี 2564 ยังอยู่ในระยะนำร่อง การรับบริการข้ามเขตที่ไหนก็ได้จึงยังมีจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่มากนัก ส่วนในปี 2565 หลังจากมีการประกาศนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของ กทม.เองได้ขยายให้ประชาชนที่มีบ้านอยู่จังหวัดรอบๆ พื้นที่ กทม.และเข้ามาทำงานแบบไปกลับ

สามารถเข้ามารับบริการจากศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ด้วย จากเดิมอยู่ที่ไหนก็ต้องรักษาที่นั่น หรือถ้าจะมารับบริการใน กทม.ต้องย้ายสิทธิมาหรือใช้ใบส่งตัว

แต่ปัจจุบันย้ำว่า...ไม่ต้องใช้แล้ว สามารถเข้าสู่ระบบบริการได้เลย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่เหล่านี้มากยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจมีว่า...จากสถิติการรับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ใช้บริการ 1.38 ล้านคน ปี 2563 เพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน

...

ส่วนปี 2564 โควิด-19 ระบาด จำนวนผู้รับบริการลดเหลือ 1.3 ล้านคน คาดว่าปี 2565 น่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นเพราะการระบาดของโควิด-19 เริ่มน้อยลง ประชาชนต่างจังหวัดก็อาจกลับเข้ามาทำงานใน กทม.จำนวนผู้รับบริการก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งสำนักอนามัยจะได้ประเมินสถานการณ์ต่อไป

นี่คืออีกหนึ่งภาพสะท้อนความคืบหน้าตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในการยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาใน “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ

นโยบายนี้ถือเป็นการทลายกำแพงการเข้าถึงบริการของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ทำให้ผู้ที่เดินทางไปทำธุระ ท่องเที่ยว หรือทำงานในต่างพื้นที่แล้วมีเหตุจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล เช่น เจ็บป่วยกะทันหัน ต้องทานยาต่อเนื่องแล้วยาหมดพอดี หรือปวดฟัน เหงือกบวม ต้องพบทันตแพทย์ ฯลฯ

...สามารถเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ในเครือข่ายของ สปสช.ได้เลยโดยไม่จำกัดว่าต้องมีใบส่งตัวหรือต้องเดินทางกลับไปรับบริการในพื้นที่ที่ตัวเองลงทะเบียนไว้

ในส่วนของพื้นที่ กทม.มีการเปิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในลักษณะข้ามเขตได้ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2563 มีกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการที่มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

...

เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนจึงอนุโลมให้ผู้ที่หน่วยบริการประจำของตัวเองถูกยกเลิกสัญญา สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ จากนั้นเมื่อมีการรับสมัครหน่วยบริการใหม่ ก็ถือโอกาสจัดระบบบริการแบบใหม่โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.เป็นหน่วยบริการประจำให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม.

ส่วนหน่วยบริการที่ทำสัญญากับ สปสช.ชุดใหม่ จะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้หน่วยบริการประจำ ในลักษณะเป็นเครือข่ายหรือพวงบริการในเขตนั้นๆ

ประกอบกับขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 และอยู่ระหว่างเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิชุดใหม่ บางพื้นที่มีหน่วยบริการน้อยแต่จำนวนประชากรมาก ถ้ารอรับบริการเฉพาะในพื้นที่นั้นก็อาจติดขัด เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจึงเกิด Model 5 คือ...

“ให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช.ที่ไหนก็ได้ โดยเบิกจ่ายตามรายการบริการ (fee schedule) กว่า 3,000 รายการ”

...

ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. บอกว่า จะเห็นว่าในพื้นที่ กทม. เรานำร่องดำเนินการอยู่แล้ว พอปีใหม่ 2565 มีนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศออกมา

สิ่งที่ขยายขอบเขตคือ จากเดิมที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปรับบริการในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของตนเองใน กทม.ก็ปรับเป็นรับบริการข้ามเขตสุขภาพได้ เช่น ประชาชนจากเขตใกล้เคียงอย่าง สระบุรี ราชบุรี ระยอง ถ้าเข้ามาใน กทม.แล้วเจ็บป่วย ก็มาเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว

ให้สังเกตง่ายๆคือ หน่วยบริการที่มีป้ายคำว่า “ชุมชนอบอุ่น” ต่อท้ายก็เข้าไปรับบริการได้

“แบบนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจากเขตอื่นๆตามรอยต่อของปริมณฑล เพราะจะมีบางส่วนที่ทำงานใน กทม. เช้านั่งรถมาทำงาน เย็นนั่งรถกลับ กว่าจะถึงบ้านก็มืดแล้ว รพ.สต.ปิดแล้ว แต่พอมีนโยบายนี้ก็สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการใน กทม. ได้”

เดินหน้าระบบสุขภาพ “กทม.” ประกาศแนวรบ...“สิทธิบัตรทอง” 30 บาทรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ.