นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงสถานการณ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ว่า ขณะนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากทุกภาคส่วนได้ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟู ควบคู่ไปกับการทำประมงอย่างยั่งยืน อาทิ การพบแนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูน ส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ 52% ป่าชายเลนคงสภาพ กว่า 1.7 ล้านไร่ มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นทั้ง โลมา ฉลาม วาฬ และฉลามวาฬ รวมถึงเต่าทะเลที่มีการวางไข่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จาก 373 รัง ถึงปีล่าสุด 502 รัง ด้านพะยูน ได้เกิดแผนแม่บท “มาเรียมโปรเจกต์” ในการอนุรักษ์พะยูน ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 221 ตัว เพิ่มเป็น 255 ตัว

รมว.ทส.กล่าวต่อว่า สัตว์ทะเลที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่น่าห่วง คือ โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัว เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเครื่องมือประมงประเภทอวน รองลงมา เป็นสาเหตุทางด้านกายภาพและชีวภาพ เช่น การตื้นเขินของทะเลสาบจากตะกอนชายฝั่ง มลภาวะจากธาตุอาหารพืช หรือภาวะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายในแหล่งน้ำจืด การก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ การเกิดมลพิษในน้ำและดินในทะเลสาบ และการไม่สามารถอพยพเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนความหลากหลายของสายพันธุ์กับโลมาอิรวดีกลุ่มอื่นได้ ทำให้เกิดการผสมสายพันธุ์เลือดชิด เป็นผลให้ลูกโลมามีความอ่อนแอ การวางแผนอนุรักษ์และขยายพันธุ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา จึงเป็นอีกเรื่องเร่งด่วน โดยได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งศึกษาแนวทางการผสมเทียมกับโลมาอิรวดีจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาสายพันธุ์โลมาอิรวดีฝูงนี้ไว้ ควบคู่กับแผนระยะสั้น คือการเข้มงวดกวดขันพื้นที่ ดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี รวมไปถึงทำความเข้าใจกับประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิตที่เหลืออยู่.

...