ประเทศที่เจริญให้ดูจากนโยบายด้าน “การจัดการขยะ”...“การแยกขยะ” ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสะอาด เป็นประเทศที่เดินด้วยระบบและวินัยของคนในชาติ

ประเด็นสำคัญที่ต้องกล่าวถึง หนึ่ง...การแยกขยะเพื่อรีไซเคิลถูกกำหนดเป็นกฎหมายของญี่ปุ่นสำหรับบังคับให้ผู้ประกอบการทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ตาม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย “Containers and Packaging Recycling Law” ในปี 1995

คือ...จะต้องส่งขวด แก้วพลาสติก กระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ไม่ใช้แล้วไปยังบริษัทรับรีไซเคิล โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามจำนวนและน้ำหนักของขยะให้แก่โรงงานที่รับไปรีไซเคิล จึงเป็นสาเหตุที่ร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของทั่วไปต้องตั้งถังขยะหลายถังเพื่อแยกขยะตามชนิด ประเภท และต้องเขียนเอาไว้ที่ถังขยะว่า “ห้ามเอาขยะอื่นๆมาทิ้งที่นี่” มิฉะนั้นจะต้องเสียเงินรีไซเคิลขยะของคนอื่นด้วย

สอง...สติกเกอร์ติดให้รู้สึกอายถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎ เจ้าของบ้านจะต้องนำถุงขยะที่รวบรวมขยะที่คัดแยกไว้แล้วพร้อมติดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร. ไปวางไว้ ณ จุดทิ้งที่เทศบาลได้กำหนดไว้แล้วว่าในแต่ละวันจะขนขยะประเภทอะไร เช่น วันจันทร์เป็นเศษอาหาร วันอังคารเป็นขยะแห้ง วันพุธเป็นขยะรีไซเคิล

...

ถ้าผู้ใดนำขยะผิดประเภทไปทิ้งที่จุดกำหนดในแต่ละวัน พนักงานเก็บขยะจะไม่เก็บถุงขยะนั้นและปล่อยทิ้งไว้ พร้อมติดสติกเกอร์ที่เขียนว่า “ไม่สามารถเก็บถุงขยะนี้ได้” พร้อมกับระบุสาเหตุว่าเพราะอะไร เป็นการประจานให้สังคมได้ทราบว่าเป็นขยะของใครตามชื่อบนถุงขยะ

“ขยะต้องถูกใส่ในถุงขยะที่จำหน่ายรับรองโดยภาครัฐเท่านั้น 800 เยนต่อ 10 ใบ ถุงเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ ท้องถิ่นสามารถนำขยะที่ได้มีการแยกตั้งแต่ต้นทางไปจัดการได้ถูกต้องต่อไป”

สาม...ซากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ฯลฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรีไซเคิลคือ รวมค่ารีไซเคิลไว้ในราคาสินค้าแล้ว...เมื่อเสียหรืออายุเกิน 7 ปี และต้องการซื้อใหม่ สามารถเอาของเก่าไปแลกคิดเป็นเงินออกมาและเพิ่มเงินซื้อของใหม่ได้โดยผู้จำหน่ายต้องรับเอาไปรีไซเคิลต่อไป

สี่...กำหนดให้การแยกขยะและการเก็บรวบรวมขยะไว้ในบทเรียนให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลรู้จักมีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก ห้า...ประเทศ ไทยชอบที่จะรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ ชอบจัดแคมเปญเป็นประจำ

แต่ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ ระบบการจัดการขยะก็ยัง ไม่ดีพอ

“ประชาชนทั่วไปยังงงอยู่ว่าแยกขยะไปทำไม เพราะท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังเอาไปเทรวมกันอยู่ดี...จึงสามารถเห็นขยะประเภทต่างๆ ได้ในบ่อขยะทั่วประเทศ แถมไม่มีกฎหมายลงโทษอีกต่างหาก”

กรณีน่าสนใจใกล้ตัวที่เป็นข่าว เก็บขยะมาสะสมไว้ในบ้านเพื่อขายต่อ ถูกร้องเรียนผิดกฎหมาย?

กรณีนี้ชาวบ้านหมู่บ้านบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ร้องเรียนมีบ้านหลังหนึ่งเก็บกองขยะหรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เช่น เศษกระดาษ เศษไม้ พลาสติกและของชำรุดต่างๆจำนวนมาก เพื่อเอาไว้ขายต่อโดยมีการวางในบ้านแน่นจนล้นออกมาบนทางเดินเท้าปริมาณมากจนก่อให้เกิดความรำคาญและเกรงจะเกิดเพลิงไหม้

...ได้ร้องเรียนไปเทศบาลเมืองบางรักพัฒนาก็ไม่มีการจัดการใดๆ กระทั่งเป็นข่าวขึ้นมา

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กำหนดให้ “การสะสมวัตถุหรือสิ่งของที่ชำรุดใช้แล้ว” เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2549

โดยผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาลหรือสำนักงาน อบต. โดยมีเงื่อนไขการอนุญาตข้อหนึ่งคือ ต้องมีรั้วกั้นมิดชิดและมีระบบป้องกันอัคคีภัยและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อประชาชนใกล้เคียง หากไม่ดำเนินการมีบทลงโทษโดยจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

...

หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กรณีแบบนี้...ท้องถิ่นได้เข้าไปจัดการดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ดำเนินการเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

ปัญหาสิ่งแวดล้อมนำพาไปสู่ภาวะ “โลกร้อน”...จับตาสาเหตุของอากาศร้อนในเมืองและแนวทางลดอากาศร้อน อาจารย์สนธิ บอกว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมาอากาศประเทศไทยที่ร้อนมากในช่วงนี้ เนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์แผ่รังสีลงมายังประเทศไทย โดยในช่วงกลางวันมีอุณหภูมิถึง 35-37 องศา

รวมกับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่มากถึงร้อยละ 70 ด้วยแล้ว... ยิ่งทำให้รู้สึกร้อนมากขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยากำหนดเกณฑ์อากาศร้อนคือ มีอุณหภูมิตั้งแต่ 35.0–39.9 องศา

หากอากาศร้อนจัดจะมีอุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 องศาขึ้นไป

การเกิดปรากฏการณ์ภาวะเกาะความร้อน (Urban Heat Island หรือ UHI) หรือ “โดมความร้อน” ในเมือง ซึ่งเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น สภาพอาคารสิ่งปลูกสร้างที่แออัดในเมืองดูดซับความร้อนไว้ได้ดีกว่า ผิวดินธรรมชาติ

การที่อาคารสูงบังแนวการพัดของลม ทำให้ไม่เกิดการพาของความร้อน... ก๊าซและฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ในเมือง นอกจากนี้ยังมีความร้อนที่เกิดขึ้นจากการสันดาปของรถยนต์และการใช้พลังงานในตัวเมือง...ยิ่งทำให้อากาศร้อนถูกขังอยู่ในเมืองมากขึ้น เมื่อรวมกับความร้อนข้อแรกด้วยแล้วอุณหภูมิยิ่งเพิ่มมากขึ้น

...

เหลียวไปมองพื้นที่สีเขียวใน กทม.ก็มีน้อยเกินไป เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนจะอยู่ที่ 6.90 ตร.ม.ต่อคนเท่านั้น หากรวมประชากรแฝงอีกเกือบ 4 ล้านคนด้วยแล้ว กทม.จะมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 3.5 ตร.ม.

ต่อคน ซึ่งยังต่ำกว่าข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้เมือง...

ควรมีพื้นที่สีเขียวเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนไม่น้อยกว่า 9 ตร.ม.ต่อคน ที่เกิดขึ้นคือ ทำให้ กทม.มีต้นไม้ในการดูดซับความร้อนได้น้อยกว่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ กทม.ยังมีอาคารสูงมากกว่า 23 เมตรถึง 2,810 อาคาร กระจุกอยู่กลางเมือง ยิ่งบดบังทิศทางลมและดูดซับความร้อนไว้ทำให้ความร้อนสะสมมากยิ่งขึ้น เป็นบ่อเกิดของเกาะความร้อนในเมือง

“US.EPA” หรือสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ เสนอแนะให้เมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และให้เมืองจัดทำหลังคาที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ในทุกอาคาร เพื่อช่วยลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนลงโดยการออกแบบด้วยการปลูกต้นไม้เป็นสวนไว้ชั้นบนสุดของอาคาร ต้นไม้จะช่วยดูดซับความร้อนเอาไว้

น่าสนใจว่า จากการวิจัยพบว่า หากอาคารตั้งอยู่กลางเมืองในช่วงเวลากลางวันจะลดอุณหภูมิในอาคารได้ 7-8 องศา แต่หากอยู่นอกเมืองจะลดได้ 2-3 องศา รวมทั้งยังเป็นที่พักผ่อนของคนในอาคารด้วย

...

นอกจากนี้ EPA ยังคาดการณ์ว่า “ต้นไม้” สามารถ “ลดความร้อน” ในช่วงฤดูที่อากาศร้อนได้ 2-9 องศา เนื่องจากเป็นร่มเงาแล้วยังคายไอน้ำและออกซิเจนออกมาในเวลากลางวันด้วย

“โลกร้อน”...ประเทศไทยร้อนจัดแบบ “Extreme weather”...หรืออากาศสุดขั้ว ซึ่งหลายๆคนอาจจะรู้อยู่แล้ว เพราะมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก “มนุษย์”...เป็นผู้ทำให้โลกร้อนนั่นเอง ปีนี้เบาะๆ หน้าร้อน 40–44 องศา (ลำปางร้อนจัดสุด) ปีหน้าอาจจะ 45 องศาขึ้น...เป็นคู่แข่งกับอินเดีย.