นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานสังกัดสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ 2565 ตนได้มอบนโยบายและแนวทางในการบริหารจัดการ โดยเน้นเร่งสร้างความเข้าใจกับชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โดยเฉพาะการเวนคืนที่ดิน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวบ้าน จะต้องไม่ให้ใครเสียประโยชน์ ทุกคนยังมีสิทธิในที่ดินของตนเอง แต่อาจจะมีการควบคุมการก่อสร้างเพิ่มเติม หรือการดูแลเรื่องการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน
อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวอีกว่า ตนยังได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพ ของบุคลากร ผู้ปฏิบัติงานในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 9 และ 10 โดยให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย รวมถึง ในพื้นที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ให้มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับคนทุกวัยที่เข้าชมแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และ ผู้พิการ ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ซึ่งพบใบเสมามีสภาพชำรุด ตนได้มอบหมายให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ และกองโบราณคดี เข้ามาตรวจสอบ และบูรณะให้สมบูรณ์ต่อไป.