ทบ.เปิดแคมเปญ "HOME OF ARMY" บ้านนี้เข้มแข็ง รักชาติ เป็นคนดี พร้อมส่งสัญญาณให้ทุกหน่วยในสังกัด ทบ. เตรียมความพร้อมในการรับทหารใหม่ ผลัด 1/2565 ในการนำ "น้องคนเล็ก" เข้าสู่ครอบครัวเดียวกัน หลังปิดจ๊อบการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าประจำการ หรือ การเกณฑ์ทหาร ประจำปี 65 ในระหว่าง 1 - 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมกับสร้างสถิติชายไทยที่มีใจรักชาติ ร้องขอสมัครเข้าเป็นทหาร สูงถึง 35,100 คน

ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ยังคงเน้นย้ำนโยบายสั่งการให้ทุกหน่วยของกองทัพบก เตรียมความพร้อมสถานที่ ปรับระบบการดูแล บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่สอดคล้องกับระบบสาธารณสุข 

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการดูแลทหารกองประจำการ สิทธิสวัสดิการ ส่งเสริมและผลักดันตามความถนัดของแต่ละบุคคล เพื่อพัฒนาและสร้างคนให้กับกองทัพและประเทศชาติ รวมถึงการผลิตคนเพื่อสนับสนุนภาคส่วนอื่นๆ

ทบ.ปลื้มชายไทยแห่สมัครทหารสูง 35,100 คน เตรียมมุ่งสู่ทหารกองประจำการอาสา

...

ซึ่งเรื่องนี้ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ระบุถึงการตรวจเลือกทหารกองเกินในปีนี้ว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชายไทยผู้เข้ารับการตรวจเลือก ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กระบวนการตรวจเลือกที่สอดคล้องกับมาตรฐานการป้องกัน โควิด-19 อย่างเคร่งครัด และเป็นรูปแบบการปฏิบัติเดียวกันทุกพื้นที่ ถือว่าชายไทยได้แสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เข้ารับการตรวจเลือกทหารปฏิบัติตามขั้นตอนของทางราชการอย่างครบถ้วน

"กองทัพยังคงยึดแนวทางให้มีการสมัครใจเป็นทหารเพื่อมุ่งสู่ระบบทหารกองประจำการอาสาลดการเรียกเกณฑ์ โดยให้ความสำคัญกับการเชิญชวนชายไทยสมัครเป็นทหารก่อน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือก ถือเป็นระบบการเกณฑ์ทหารแบบผสมผสาน คือมีทั้งสมัครและคัดเลือกควบคู่กันไป โดยได้เปิดรับสมัครทหารกองเกิน เป็นทหารกองประจำการ ด้วยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ เมื่อ 1 ธันวาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 รับสมัครเฉพาะชายไทยอายุ 18 – 20 ปี (เกิดปี พ.ศ. 2545 – 2547) ที่ยังไม่ถูกเรียกเข้าเป็นทหารกองประจำการ และทหารกองเกินที่มีอายุ 22 – 29 ปี (เกิดปี พ.ศ. 2536 – 2543) ที่เคยเข้ารับการตรวจเลือกทหารแล้ว แต่ไม่ถูกเข้าประจำการ ทุกประเภท ให้สามารถสมัครเป็นทหารกองประจำการได้ เป็นกรณีพิเศษ ปรากฏว่ามีผู้สมัครด้วยระบบออนไลน์ถึง 6,600 คน และในการตรวจเลือกทหารเมื่อ 1-20 เมษายน 2565 มีชายไทยสมัครเป็นทหารอีกประมาณ 28,500 คน ทำให้ในปี 2565 นี้ มีชายไทยสมัครเป็นทหาร 35,100 คน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในนโยบายเรื่องพัฒนาระบบการตรวจเลือกมุ่งสู่ทหารกองประจำการอาสา"

ทบ.เสริมแรงจูงใจด้านสิทธิ สวัสดิการ ค่าตอบแทน และมีโอกาสได้บรรจุรับราชการ

รองโฆษก ทบ. ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชายไทยตัดสินใจสมัครเป็นทหาร นอกเหนือจากมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นทหารอย่างแท้จริง แรงจูงใจอีกทางหนึ่งเนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาทหารกองประจำการของกองทัพบก โดยเฉพาะด้านสิทธิและสวัสดิการที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทั้ง ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยเลี้ยง และเงินเพิ่มพิเศษอีกจำนวนหนึ่งตามภารกิจ

รวมทั้งระบบการดูแลทหารที่มีการพัฒนาในทุกด้าน ทหารที่ประจำการครบ 2 ปี หน่วยทหารจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวค่อยๆ ฝึกฝน บ่มเพาะ และพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการศึกษา สมรรถภาพร่างกาย ความมีระเบียบวินัย โดยในขณะนี้กองทัพบกให้ความสำคัญกับทหารกองประจำการที่มีใจมุ่งมั่น ศรัทธาในอาชีพทหาร เปิดโอกาสเข้าสู่เส้นทางการรับราชการทหาร ซึ่งในแต่ละปีกองทัพได้เปิดรับทหารกองประจำการเป็นนายทหารชั้นประทวนกว่า 4,000 อัตรา

เน้นการฝึกภายใต้มาตรการใหม่ หน่วยฝึกปลอดโรค จนท.ปลอดภัย

...

โดยทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2565 จะเข้าประจำการในหน่วยทหารในวันที่ 1 และ 3 พ.ค.65 กองทัพบกได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ระบบการดูแล บุคลากร รวมทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่สอดคล้องกับสาธารณสุข สำหรับการฝึกทหารใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 กองทัพบกได้มีมาตรการรองรับทั้งเรื่องการป้องกันและการรักษา สอดคล้องกับมาตรการของสาธารณสุขในขณะนี้ ตั้งแต่พื้นที่รับรายงานตัว ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ การเดินทางมายังมณฑลทหารบก/หน่วยฝึกทหาร การคัดกรองทหารใหม่ ณ มณฑลทหารบก การส่งตัวทหารใหม่เข้าหน่วยฝึก ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) การจำกัดพื้นที่และไม่สัมผัสสิ่งแวดล้อมภายนอกแบบระบบปิด (Bubble and Seal) และการปฏิบัติตามแนวทางปลอดโควิด คือ "หน่วยฝึกปลอดโรค เจ้าหน้าที่ปลอดภัย ทหารใหม่ปลอดโรค"

ทั้งนี้ ทบ.ได้กำหนดมาตรการดูแล และป้องกันโควิดสำหรับทหารใหม่ โดยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกและการรับทหารใหม่ทุกคนและให้มีการกักตัว 7 วัน ก่อนการทำหน้าที่ พร้อมด้วยการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK เพื่อให้ปลอดเชื้อก่อนพบทหารใหม่

...

และทหารใหม่ทุกนายจะได้รับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ก่อน จากนั้นจะส่งเข้าหน่วยฝึกทหารใหม่และเริ่มกระบวนการกักตัว 7 วัน ยกเว้นผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม จะกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนจะเริ่มการฝึกทหารใหม่ในวันที่ 11 พ.ค. 65 เป็นต้นไป

การฝึกเน้นกลุ่มย่อย แยกการปฏิบัติ รวมถึงมีแพทย์ทหารดูแล

ทหารใหม่ทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสตามแนวทางของสาธารณสุข ตลอดระยะการฝึกจะแยกการเรียนเป็นกลุ่มย่อย แยกการปฏิบัติในทุกกิจกรรม การจำกัดพื้นที่และไม่สัมผัสสิ่งแวดล้อมภายนอกแบบระบบปิด (Bubble and Seal) อย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะได้รับการดูแลจากหน่วยทหารเสนารักษ์และโรงพยาบาลค่าย ทั้งด้านสุขภาพร่างกายทั่วไปและการป้องกันโควิด-19 เป็นไปตามนโยบายของกองทัพบกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลทหารกองประจำการเหมือนน้องคนเล็กของครอบครัว

การมอบสิทธิสวัสดิการ ส่งเสริมและผลักดันตามความถนัดของแต่ละบุคคล การฝึกและดูแลทหารกองประจำการนอกจากจะเสริมสร้างพัฒนาการและฝึกเพื่อการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ด้านความมั่นคงแล้ว ยังจะพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลตามที่ตนเองมีความถนัด อบรมทักษะการประกอบอาชีพ สร้างคนดี มีความสามารถให้กับกองทัพและประเทศชาติ รวมถึงการผลิตคนเพื่อสนับสนุนภาคส่วนอื่นๆ

...

ยกทหารใหม่ คือผู้เสียสละ ทบ.ย้ำจะดูแลอย่างดี เพื่อพร้อมปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง

ทหารใหม่เป็นพลเรือนที่เข้ามาอยู่ในกองทัพในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบและเสียสละ กองทัพบกได้เตรียมการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ผู้ฝึกและดูแลทหารใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติทั้งด้านความรู้ความสามารถทางทหารและทัศนคติ เสริมด้วยระบบการดูแลตามสายการบังคับบัญชาของหน่วยทหาร การฝึกทหารในระบบใหม่ จะมุ่งเน้นให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงการดูแลตนเองมีสุขลักษณะที่ดี นอกเหนือจากการฝึกตามแบบธรรมเนียมทหาร เพื่อให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ควบคู่กับการเป็นทหารกองประจำการที่พร้อมปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง พัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชน

"ที่ผ่านมากองทัพบกได้พยายามพัฒนา ระบบการคัดเลือกทหารใหม่ที่เข้าประจำการ ให้อยู่ในรูปแบบระบบสมัครใจมากที่สุด เพื่อเดินหน้าพัฒนาการตรวจเลือกทหารกองประจำการ มุ่งสู่ระบบทหารกองประจำการอาสา ทดแทนการเรียกเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม ด้านการปฏิรูปของกองทัพ โดยได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้การบริหารจัดการภายในและศักยภาพกองทัพบกเป็นหลัก"

นอกจากนี้ ทบ.ยังได้ดำเนินโครงการรับสมัครทหารกองเกิน เป็นทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ ด้วยระบบออนไลน์ เปิดรับสมัครเฉพาะชายไทย อายุ 18–20 ปี ที่ยังไม่ถูกเรียกเข้าเป็นทหารกองประจำการ และทหารกองเกินที่มีอายุ 22–29 ปี ที่เคยเข้ารับการตรวจเลือกทหารแล้ว แต่ไม่ถูกเข้าประจำการทุกประเภท ให้สามารถสมัครเป็นทหารกองประจำการได้เป็นกรณีพิเศษ

จัดสรรโควตาให้ทหารใหม่สอบเข้าเป็น "นายสิบ" สูงถึงร้อยละ 80 และพร้อมดูแล "น้องคนเล็ก"

รวมถึงการกำหนดแนวทางการพัฒนาต่อยอดสู่อาชีพทหารโดยให้ได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษร้อยละ 10 ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการทหารในส่วนของกองทัพบก การใช้วุฒิการศึกษาเพื่อลดเวลารับราชการ โดยผู้ที่จบ ปวส. และปริญญาตรีขึ้นไปถ้าสมัครจะใช้เวลาประจำการเพียง 6 เดือน วุฒิ ปวช. และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถ้าสมัครจะได้ประจำการ 1 ปี

นอกจากนี้ กองทัพบกได้จัดสรรโควตาในการสอบคัดเลือกนักเรียนนายสิบที่มาจากทหารกองประจำการสูงถึงร้อยละ 80 ของยอดรับนักเรียนนายสิบในแต่ละปี และหากมีผลการเรียนดีเยี่ยมมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารต่อไป การสร้างแรงจูงใจดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการสมัครเป็นทหาร นอกเหนือจากเรื่อง สิทธิ ค่าตอบแทนและสวัสดิการพื้นฐานที่ทหารจะได้รับ

ที่ผ่านมา ทบ.มีนโยบายพัฒนาทหารกองประจำการอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหารกองประจำการสามารถแจ้งพื้นที่เข้าประจำการได้เพื่อขออยู่ใกล้ภูมิลำเนา หรือขอลากลับบ้านหรือประกอบอาชีพในช่วงวันหยุดเพิ่มเติมได้ การพัฒนาคุณภาพเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประจำกายให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย ให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหารในการประกอบเลี้ยง ส่งเสริมสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง การรับค่าตอบแทนผ่านธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (Internet banking) การจัดสรรเวลาในช่วงวันหยุดให้สามารถประกอบอาชีพเสริมหรืออาชีพเดิมก่อนเป็นทหาร รวมถึงการเข้าดูแลครอบครัวทหารกองประจำการอย่างใกล้ชิด เพราะทหารกองประจำการเปรียบเสมือน "น้องคนเล็ก" ในครอบครัวกองทัพบก

ส่วนอนาคตทหารกองประจำการของกองทัพไทย จะพัฒนาสู่ระบบสมัครใจได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ต้องขึ้นกับความพร้อมของทุกภาคส่วน รวมทั้งสถานการณ์และปัจจัยด้านความมั่นคงทั้งในและต่างประเทศ

แต่เชื่อว่ากองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาสู่ระบบทหารกองประจำการอาสาตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ภายใต้กรอบงานด้านความมั่นคงที่เข้มแข็ง สู่ทหารกองประจำการที่มีความภาคภูมิใจ มีใจรัก พร้อมปฏิบัติภารกิจเพื่อแผ่นดินไทยอย่างเต็มภาคภูมินั่นเอง

ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว

กราฟิก : varanya phae-araya