กระแสในสังคมที่กลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดพลังทางสังคมขึ้นมา กำลังเป็นเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการยอมรับหรือต่อต้านเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกรณีของแร็ปเปอร์คนไทย มิลลิ ในการสร้างกระแส ข้าวเหนียวมะม่วง บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกที่ สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างของการเกิดกระแสทางสังคมที่รวดเร็ว และกระจายเป็นวงกว้างในเวลาสั้นๆ

คนไทยที่ไปสร้างกระแสในเวทีโลกมีมากมาย ครั้งหนึ่งก็เกิดกระแส ลูกชิ้นยืนกิน โดย ลิซ่า คนไทยที่ไปเติบโตในวงการบันเทิงของเกาหลี ในนามศิลปินของวง Blackpink หรือ มวยไทย ที่นักมวยดังๆไปสร้างกระแส จนศิลปะแม่ไม้มวยไทยมีคนรู้จักไปทั่วโลก มีการแข่งขันมวยไทย เรียนมวยไทยจากคนต่างชาติมากมาย ที่มีผลพลอยได้ตามมาด้วยคือการสักยันต์ ลงอาคม ของขลัง เช่น คนต่างชาติรู้จักยันต์ห้าแถวเป็นอย่างดี

อาหารไทย มวยไทย ศิลปะไทย ขนมธรรมเนียมประเพณีไทย การไหว้ของนักกีฬาไทยที่ไปแข่งขันระดับนานาชาติ ทำให้ประเทศไทยและธงชาติไทยเป็นที่รู้จักและสนใจจากชาวโลก

Soft Power กลายเป็นเรื่องฮิตติดปากของคนไทยในยุคนี้ ถ้าจะอธิบายง่ายๆว่า Soft Power คืออะไร แปลตรงตัว อำนาจอ่อน หรือ อำนาจละมุน ก็คงจะตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย

ถ้าจะบอกว่าเป็นการขยายอิทธิพล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ หรือที่เรียกว่า Hard Power หรือถ้าจะบอกว่าเป็น อำนาจที่เกิดจากความศรัทธาเชื่อมั่น ก็คงจะไม่ผิดความหมายไปเท่าไหร่

ซึ่งในความละเอียดอ่อนของ Soft Power ก็แตกต่างกัน กระแสลูกชิ้นยืนกิน อาจจะเกิดจากความชื่นชอบ ลิซ่า ในด้านของศิลปินการแสดง แต่กระแส ข้าวเหนียวมะม่วง ของ มิลลิ ก็อาจจะแปลได้อีกความหมาย ซึ่งอาจจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก Hard Power ก็ได้

...

วันนี้ผู้นำประเทศต่างๆคงต้องเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับ Soft Power ให้มากขึ้น เพราะจะเกิดการเรียนรู้การบริหารการปกครอง ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าจะเกิดเป็นกระแสวูบวาบอย่างเดียว แต่จะเป็นแรงกดดันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการถูกบังคับกดขี่ ซึ่งหมายถึงความเป็นอิสระเสรีของคนยุคใหม่

ที่เป็นตัวของตัวเอง คิดเองได้ไม่ชอบการชักจูง

และ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะเป็น Soft Power ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในบ้านเมืองในอนาคต เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งเป็นครั้งแรก 7 แสนคนในปีนี้ จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นเก่า รุ่นปัจจุบันก็จะเริ่มล้าหลัง ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับ สังคมผู้สูงอายุ ไม่เหลือพลังใดๆในสังคมอีกต่อไป

ประชาธิปไตยในประเทศไทยค่อนข้างจะน่าวิตกกังวลตรงที่ว่า ถึงยุคของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง Soft Power กับ Hard Power ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน

ทั้งๆที่ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่อย่างใด.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th