จากหมู่บ้านที่เคยแห้งแล้ง ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตเงาฝน ถึงฤดูแล้งน้ำในหนอง บ่อ บึง สระ แห้งผาก อย่าว่าแต่ชาวบ้านไม่อาจทำมาหากินอะไรได้ ต้นไม้ในหมู่บ้านยังหาสีเขียวแถบไม่เจอ จนผู้คนต้องอพยพไปขายแรงงานในเมืองใหญ่
แต่ด้วยแรงร่วมใจของชาวบ้านกับภาคเอกชนในพื้นที่ ช่วยกันเนรมิตระบบธนาคารน้ำใต้ดินทั้งในแบบบ่อเปิดและบ่อปิดขึ้นมาในหมู่บ้าน ที่ตั้งชื่อเรียกขึ้นมาเองว่า “เจริญสุขโมเดล” ชั่วระยะเวลาเพียง 2–3 ปี ทุกอย่างกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างทันตาเห็น
“หมู่บ้านเราถึงฝนตกน้อย แต่ถ้าตกลงมาแต่ละทีน้ำจะท่วมขังเพราะพื้นที่เป็นดินเหนียว ใต้ชั้นดินฝนหมดจะแห้งแล้ง แม้ที่ผ่านมาเราพยายามจะแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อขุดสระไว้เก็บก็ตามที ถึงหน้าแล้งในบ่อในสระไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย แห้งถึงขนาดดินแตกระแหงลึกเป็นเมตรเลยทีเดียว จนมาปี 2560 เราได้ไปดูงานธนาคารน้ำใต้ดินที่นายชาตรี ศรีวิชาถา นายก อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ได้ทำไว้ และมี อ.โกวิท ดอกไม้ ปราชญ์เรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน มาให้ความรู้ ถึงได้รู้ว่าสระที่เราขุดไว้เก็บมีน้ำไม่พอใช้ในหน้าแล้งนั้น ทำไม่ถูกต้อง เพราะขุดลึกกันแค่ 2 เมตร ยังลึกไม่ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ กลับมาเลยทดลองทำดู”
...
อ.พลภัทร ชัสวิเศษ อดีตครู ร.ร.บ้านเจริญสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เล่าถึงที่มาของระบบธนาคารน้ำใต้ดินที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมซ้ำซาก...หลังไปศึกษาดูงานกลับมายังไม่เชื่อสนิทว่าทำแล้วจะได้ผลจริง
เลยต้องหาอาสาสมัครใจกล้า ทำการทดลองบูรณะสระเดิมให้มีความลึกมากขึ้นจาก 2 เมตร เป็น 7-8 เมตร โดยมี บริษัท แบล็คซี 1994 จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงโม่หินในพื้นที่นำรถแบ็กโฮมาช่วยสนับสนุนการขุดสระ
ผลปรากฏว่า มีน้ำสีฟ้าซึมขึ้นมาให้เห็น ผ่านหน้าฝนเข้าสู่ฤดูแล้งสระไม่แห้งผาก ไม่มีดินแตกระแหงให้เห็นอีกแล้ว
“ชาวบ้านคนอื่นๆเห็นผล ต่างคนต่างกลับไปบูรณะสระของตัวเองเป็นการใหญ่ จนวันนี้พื้นที่ทำเกษตรของหมู่บ้านเราที่มีประมาณ 1,800 ไร่ มีการขุดสระกระจายไปทั่วถึง 200 สระ และไม่เพียงแต่เฉพาะในหมู่บ้านเจริญสุขเท่านั้น หมู่บ้านข้างเคียงได้นำไปทำด้วยเช่นกัน”
และไม่เพียงทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อ เปิดเท่านั้น ยังมีการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อปิดที่มีการขุดหลุมสารพัดขนาดแล้วใส่หินปิดทับด้วยตาข่ายตาถี่กันเศษดินเข้าไปทำให้หลุมอุดตันตามจุดต่างๆ ที่มักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตอนฝนตก เพื่อน้ำที่ท่วมขังจะได้ไหลซึมลงดินได้รวดเร็ว
...
“ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดเราจะทำไว้ตามทุ่งนา เพื่อจะนำน้ำไปใช้ทำการเกษตร ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดเราทำกันไปทั่วในพื้นที่ชุมชนแบบบ้านใครบ้านมัน ที่ดินสองข้างถนนเราก็ยังขุดเป็นหลุมยาวทำเป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดเหมือนกัน เลยทำให้เดี๋ยวนี้ฝนตก น้ำไม่ท่วมขังอีกแล้ว”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากธนาคารน้ำใต้ดินที่ทำกันขึ้นมา อ.พลภัทรบอกว่า จากเดิมที บ.เจริญสุขเคยทำนาได้แค่ปีละครั้ง ได้ผลดีบ้างไม่ดีบ้าง วันนี้กลายสภาพมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง แถมหน้าแล้งชาวบ้านยังสามารถทำมาหากินเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักไว้ขายได้อีกด้วย
จนวันนี้ลูกหลานที่เคยไปทำงานอยู่ตามโรงงานต่างๆในเมือง ได้หันกลับมาเป็นเกษตรกรกันมากขึ้น เพราะที่นี่ระบบธนาคารน้ำใต้ดินทำให้มีน้ำทำกินได้ตลอดทั้งปี...และที่ลูกหลานกลับบ้านมาไม่ใช่จากพิษโควิด เพราะกลับมาก่อนโควิดจะระบาดซะอีก
ลูกหลานกลับมาเพราะที่บ้านมีน้ำ มีต้นไม้สีเขียวให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ ชวนให้ทำกินนั่นเอง.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
...