จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันเฝ้าระวังการเข้าทำลายของ หนอนปลอกเล็ก

ที่ผ่านมาจะพบการระบาดมากในช่วง พ.ย.-ก.พ. แต่ปัจจุบันพบการระบาดของหนอนปลอกเล็กในสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ช่วงเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น

โดยหนอนปลอกเล็กจะแทะผิวใบ กินตรงส่วนผิวใบเอามาทำปลอกหุ้มตัว ทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และกัดทะลุใบเป็นรูและขาด แหว่ง ถ้ารุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลแห้งคล้ายใบไหม้ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง

วิธีการป้องกันกำจัดหากพบการระบาดเริ่มทำลายเล็กน้อย นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้ตัดทางใบที่หนอนกำลังกินมาเผาทำลาย

แต่หากอยู่ในพื้นที่การระบาดของด้วงงวงหรือด้วงสาคูไม่ควรตัดทางใบ เพราะรอยแผลจะเป็นช่องทางเข้าทำลายของด้วงงวง ให้พ่นเชื้อบีที (Bacillus thuringiensis) ในอัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 5 มิลลิลิตร พ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบและต้องพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงยูวีที่จะทำลายเชื้อบีที โดยใช้เครื่องพ่นที่ปรับความดันได้ไม่น้อยกว่า 30 บาร์ และพ่นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน

กรณีพบการระบาดรุนแรง ให้เลือกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรภายในพื้นที่ เพื่อขอรับคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดที่ถูกวิธีเพื่อป้องกันการระบาดที่รุนแรงต่อไปได้.

...

สะ-เล-เต